Annual PDMO Market Dialogue ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 8, 2016 15:16 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงผลการประชุม Annual PDMO Market Dialogue ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดตราสารหนี้ ความต้องการลงทุนของนักลงทุน และแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคต เพื่อประกอบ การพิจารณาจัดทำแผนการระดมทุนของรัฐบาลให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยมีผู้ร่วมตลาดให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD) และนักลงทุนสถาบันกว่า 150 ราย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. แผนการระดมทุนและแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

1.1 ประมาณการความต้องการระดมทุนในประเทศของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงินรวม 957,722 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.1.1 การกู้เงินใหม่ในปี งปม. 2560 (รวมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน)

          (ก) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ                              390,000 ลบ.
          (ข) การกู้เงินเพื่อนำมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ                                   50,613 ลบ.
          (ค) การกู้เงินเพื่อนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ                         48 ลบ.

การกู้เงินใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560                                 440,661 ลบ. (ร้อยละ 46)

1.1.2 การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิม (Rollover)

(ก) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ (ขาดดุลฯ) 188,999 ลบ.

          (ข) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. FIDF                     313,119 ลบ.
          (ค) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่กระทรวงการคลังให้กู้ต่อ                    14,943 ลบ.

รวมการระดมทุนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้                                    517,061 ลบ. (ร้อยละ 54)

รวม 1.1.1 + 1.1.2          957,722 ลบ. (100%)


1.2 แผนการระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
1.2.1 การออกพันธบัตร Benchmark

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สบน. วางแผนที่จะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้ในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Bond) เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี (LB226A) 10 ปี (LB26DA) 15 ปี (LB316A) 20 ปี (LB366A) 30 ปี (LB466A) และ 50 ปี (LB666A) ทำให้มีปริมาณวงเงินพันธบัตรรัฐบาล (Bond Supply) วงเงินรวม 550,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของประมาณการความต้องการระดมทุน โดย สบน. ได้มุ่งเน้นการออก Benchmark Bond ทุกช่วงอายุอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตรรัฐบาล และสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ที่มีประสิทธิภาพให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างแท้จริง และตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทุกกลุ่มอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ พันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี ยังคงให้เป็นรุ่น Exclusivity และมี Greenshoe Option โดยกระทรวงการคลังได้ให้สิทธิเฉพาะแก่ MOF Outright PD ที่สามารถเข้าร่วมการประมูลพันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี รวมทั้งให้สิทธิในการซื้อพันธบัตร Benchmark ดังกล่าวเพิ่มเติมในอัตราถัวเฉลี่ยรับ (Average Accepted Yield: AAY) เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ของพันธบัตรที่ได้รับจัดสรร โดยให้ใช้สิทธิดังกล่าวระหว่างเวลา 11.00 – 11.30 น. ของวันประมูล

1.2.2 การออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill)

สบน. มีแผนการออก T-Bill รุ่นอายุ 28 วัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ โดย สบน. จะออกตั๋วเงินคลังรุ่นอายุ 28 วัน ทุกสัปดาห์ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และจะมีการประกาศวงเงินการออกเป็นรายเดือน

1.2.3 การออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond)

สบน. มีแผนที่จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งลงทุนที่มีคุณภาพ และส่งเสริมภาคการออมให้กับประชาชน อีกทั้ง เพื่อเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการระดมทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 2 ครั้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยจะประกาศระยะเวลา เงื่อนไข อายุ และอัตราดอกเบี้ยให้ทราบต่อไป

1.3 แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

สบน. ได้ทำการศึกษาและพัฒนากลยุทธ์ต่างๆ ในการส่งเสริมภาคการระดมทุนของรัฐบาลให้มีความยืดหยุ่น สอดรับกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนและสภาวะตลาดที่มีความผันผวนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการซื้อขายในตลาดรองและเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตร ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในระยะยาว โดย สบน. มีแผนจะดำเนินงาน ดังนี้

1.3.1 การเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตร Benchmark ด้วยการเพิ่มวงเงิน และลดความถี่ในการประมูล

โดยการประมูลพันธบัตร Benchmark ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สบน. จะทำการเพิ่มวงเงินในการประมูล และลดความถี่ในการประมูลแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มยอดหนี้คงค้างของพันธบัตรให้สูงขึ้นคราวเดียว และสร้างสภาพคล่องในตลาดรองให้สูงขึ้นระหว่างช่วงที่ไม่มีการประมูล โดยมีรายละเอียดของวงเงินและความถี่ในการประมูลดังนี้

Tenors      Symbol          Coupon             Auction Size      Frequency             Total Issuance
5*          LB226A          1.875%          20,000 - 30,000          5 - 6          140,000 – 160,000
10          LB26DA          2.125%          18,000 – 20,000          5 - 6           90,000 – 100,000
15          LB316A           3.65%          14,000 – 16,000          5 - 6            70,000 – 80,000
20          LB366A           3.40%          11,000 – 13,000          5 - 6            60,000 – 70,000
30          LB466A          2.875%          11,000 – 13,000          5 - 6            60,000 – 70,000
50          LB666A           4.00%          14,000 – 16,000          5 - 6            80,000 – 90,000

* Remarks: Including Greenshoe Option for 5-year Benchmark Bond

1.3.2 แนวทางการเพิ่มความคล่องตัวในการระดมทุนและตอบสนองความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยธุรกรรม Overallotment และธุรกรรม Mini Auction

จากความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ที่ผ่านมา ทั้งจากความต้องการลงทุนของนักลงทุนที่สูงขึ้นและการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศต่างๆ สบน. จึงได้พัฒนาธุรกรรม Overallotment และ Mini Auction เพื่อเพิ่มความขีดความสามารถ และสร้างความยืดหยุ่นในการระดมทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับความต้องการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในสภาวะต่างๆ ได้ อีกทั้ง ธุรกรรมดังกล่าวยังสามารถลดความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield Curve) โดยการดูดซับความต้องการลงทุนส่วนเกิน (Excess Demand) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สบน. จะประกาศเงื่อนไข และวิธีการให้ทราบในภายหลัง

1.3.3 ธุรกรรมแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากพันธบัตร (Bond Stripping)

สบน. ได้วางแผนการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนด้วยธุรกรรม Bond Stripping โดยการแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากพันธบัตร ซึ่งจะทำให้เกิดพันธบัตรแบบไม่จ่ายดอกเบี้ย (Zero-coupon Bond) ตามจำนวนกระแสเงิน (Cash-Flow) ที่จะเกิดในพันธบัตรรุ่นตามช่วงอายุนั้นๆ โดยนักลงทุนสามารถทำการซื้อขาย Zero-coupon Bond รุ่นนั้นๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรอง อีกทั้ง ยังสามารถสร้าง Zero-coupon Bond Yield Curve ให้มีอายุยาวขึ้น เพื่อส่งเสริมการคำนวณราคาตราสารหนี้ (Bond Valuation) ให้มีความแม่นยำมากขึ้น

2. แผนการลงทุนและความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

สบน. แถลงความคืบหน้าของการดำเนินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มดำเนินการก่อนปี 2558 (on-going) จำนวน 15 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 297,150.63 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 20,131.81 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 41.31 ของแผนการเบิกจ่ายปี 2559)

2) โครงการตามแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน (Action plan) จำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,778.80 ล้านบาท จำนวน 20 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ผลการเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 9,499.77 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 28.38 ของแผนการเบิกจ่ายปี 2559) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนประกวดราคา 7 โครงการ และอยู่ระหว่างเสนอ ครม. อนุมัติ 8 โครงการ

สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร : 02-271-7999 ต่อ 5807, 5814

www.pdmo.go.th

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ