รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 14, 2016 13:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กันยายน 2559

Summary:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ส.ค.59 ดีขึ้น

2. กรมสรรพากรเสนอกระทรวงการคลังคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี

3. จีนเผยยอดค้าปลีกเดือน ส.ค.59 ขยายตัวร้อยละ 10.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

1. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ส.ค.59 ดีขึ้น
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ส.ค.59 และดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 42.8 และ 44.4 จากระดับ 42.3 และ 43.3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายลง ส่งผลให้ครัวเรือนสามารถทำการเพาะปลูกได้ตามปกติ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคายางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวม (จัดทำโดยหอการค้าไทย) ในเดือน ส.ค.59 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 62.2 จากเดือนก่อน อยู่ที่ 61.4 อีกทั้ง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ เป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 59 อาจมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดที่อาจยังคงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 จับตา: ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่อาจจะกระทบต่อค่าครองชีพของครัวเรือน
2. กรมสรรพากรเสนอกระทรวงการคลังคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี
  • นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้เสนอกระทรวงการคลังให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT อัตราร้อยละ 7 ซึ่งจะถึงกำหนดที่จะต้องปรับขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 10 ในวันที่ 30 ก.ย 59 นี้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 นั้น จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ปี 59 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าการบริโภคสินค้าคงทนของภาคเอกชน มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในช่วง 8 เดือนแรกปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 และร้อยละ 4.8 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือน 2 ติดต่อกัน ที่ระดับ 62.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 จับตา: การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 59
3. จีนเผยยอดค้าปลีกเดือนส.ค.59 ขยายตัวร้อยละ 10.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
  • จีนเผยยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ขยายตัวร้อยละ 10.6 เทียบรายปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ที่ปรับตัวขึ้นเพียงร้อยละ 10.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกของจีนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น หลังจากยอดค้าปลีกของจีนในช่วงเดือน ก.ค. 59 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี แนวโน้มที่ดีขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ เป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภาพรวมของจีนในช่วงเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 59 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่จัดทำโดยทางการจีนเดือน ก.ค.59 อยู่ที่ระดับ 49.9 จุด กลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญอื่นยังคงมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง โดยการลงทุนในสินทรัพย์คงทนขยายตัวชะลอลงต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี อยู่ที่ร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 59 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59) จับตา : ผลของนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายต่อเศรษฐกิจจีนช่วงในครึ่งปีหลัง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ