รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12 - 16 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 19, 2016 11:23 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ส.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -5.5
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,958.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.9 ของ GDP
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 59 คิดเป็น 1.70 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • วันที่ 14 ก.ย. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของจีน เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 105.6 จุด
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกของสหราชอาณาจักร เดือน ก.ค. 59 หดตัว ร้อยละ -3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 12.0
  • อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators         Forecast   Previous
Aug : API (%YOY)      5.5       2.3
  • ต่อเนื่องจากเดือน ก.ค. 59 ที่ดัชนีฯขยายตัวร้อยละ 2.3 ตามปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายลง กอปรกับปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าที่เกิดปัญหาภัยแล้ง และไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ ในขณะที่หมวดประมงมีความต้องการจากต่างประเทศสูงต่อเนื่อง และไม่มีการรายงานสถานการณ์โรคระบาด
Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -5.5 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -1.4 ตามภาคการก่อสร้างที่ยังชะลอตัว ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ร้อยละ -12.9
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,958.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.9 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 34.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 97.9 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 94.2 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ก.ค. 59 คิดเป็น 1.70 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59
Economic Indicators: This Week
  • วันที่ 14 ก.ย. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี นับว่าเป็นอัตราเดิมต่อเนื่อง 1 ปีติดต่อกัน โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี และภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 59 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือน ก.ค. 59 ที่ดัชนีฯขยายตัวร้อยละ 2.3 ตามปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายลง กอปรกับปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าที่เกิดปัญหาภัยแล้ง และไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ ในขณะที่หมวดประมงมีความต้องการจากต่างประเทศสูงต่อเนื่อง และไม่มีการรายงานสถานการณ์โรคระบาด

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรถยนต์และอาหารที่เร่งตัว หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าวัตถุดิบ และเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัว

China: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 59 ที่อยู่ที่ระดับ 105.6 จุด สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้ว่าระดับจะลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 106.8 จุด มูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเกษตรกรรมและบริการเร่งตัว ขณะที่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมชะลอลง

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัว 4 เดือนติดต่อกัน จากการผลิตสินค้าทุกหมวดที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าในหมวดอาหารตามฤดูกาลเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านการส่งออก เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และการนำเข้า เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยด้านดุลการค้าเกินดุลอยู่ที่ 25.3 พันล้านยูโร

UK: worsening economic trend

การส่งออก เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 12.0 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 15.9 พันล้านปอนด์ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวในทุกหมวดยกเว้นหมวดพลังงานที่ขยายตัว ด้านอัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 59 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ของกำลังแรงงานรวม และอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 59 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 59 ที่ขยายตัวทรงตัวที่ร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 59 BOE ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี นอกจากนี้ยังได้คงเป้าหมายรวมของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ 435 พันล้านปอนด์

Australia: mixed signal

ยอดขายรถยนต์ เดือน ส.ค. 59 กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรถ SUV ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบมากกว่า 3 ปี จากการจ้างงานแบบเต็มเวลาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานปรับตัวลดลง

India: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงที่สุดในรอบ 2 ปี จากราคาเชื้อเพลิงและสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 กลับมาหดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่กลับมาหดตัว

Hong Kong: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาส 2 ปี 59 หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าทุกหมวดที่หดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นหมวดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ

Indonesia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 14.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน สวนทางกับการส่งออกและการนำเข้า เดือน ส.ค. 59 ที่หดตัวร้อยละ -0.7 และ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 293.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Philipppines: mixed signal

ยอดค้าปลีกสุทธิ เดือน ก.ค. 59 ไม่ขยายตัวที่ร้อยละ 0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ด้านการนำเข้า เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือน เม.ย. 59 ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวมสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 59 ที่อยู่ที่ระดับ 2.5 จุด สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ และความเชื่อมั่นในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในเดือนก่อนหน้า

Singapore: mixed signal

อัตราการว่างงาน ในไตรมาสที่ 2 ปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม ด้านยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือน มิ.ย. 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่ยังคงอยู่ระดับต่ำกว่า 1,500 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 15 ก.ย. 59 ปิดที่ระดับ 1,463.39 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 51,766 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยมีปัจจัยบวกจากการที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายสาขา อาทิ นายอีริก เอส โรเซนเกรน และนางลาเอล เบรนนาร์ด ออกมาแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ออกไป ประกอบกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 59 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 59 จากร้อยละ 3.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12 - 15 ก.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 10,451.92 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-14 bps โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ โดยนักลงทุนจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในวันที่ 20-21 ก.ย. 59 นี้ โดยระหว่างวันที่ 12 - 15 ก.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 5,802.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 15 ก.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 34.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.67 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.18 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ