รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2016 11:57 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การส่งออกในเดือน ส.ค. 59 มีมูลค่า 18,824.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 6.5
  • การนำเข้าในเดือน ส.ค. 59 มีมูลค่า 16,697.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.5
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 106.9 ขยายตัวร้อยละ 3.1
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ส.ค. 59 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 18.0
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ของสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) ของเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 6.4
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin ของจีน เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เดือน ส.ค. 59 moขยายตัวร้อยละ 2.3
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไต้หวัน เดือน ส.ค. 59 eขยายตัวร้อยละ 7.7

Indicator next week

Indicators           Forecast  Previous

Sep: Inflation (%YOY)   0.6       0.3
  • โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เป็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาน้ำมันเริ่มมีการลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในเดือนนี้ ขณะที่ราคาอาหารสดมีการปรับตัวลดลง และล่าสุดราค่าไฟฟ้าของรอบเดือน ก.ย.- ธ.ค.59 ยังคงราคาไว้เท่าเดิม จึงไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนนี้
Economic Indicators: This Week

การส่งออกในเดือน ส.ค. 59 มีมูลค่า 18,824.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.4 ซึ่งการกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการกลับมาขยายตัวอีกครั้งของหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 9.0 จากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.1 ตามการขยายตัวในระดับสูงของสินค้ายานยนต์ที่ร้อยละ 35.7 เป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวอีกครั้งเช่นกันที่ร้อยละ 7.1 จากเดือนก่อนหน้า ที่ หดตัวร้อยละ -4.7 อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าเชื้อเพลิงยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.8 และ -11.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 0.7 และปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 5.8 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -1.2

การนำเข้าในเดือน ส.ค. 59 มีมูลค่า 16,697.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.2 จากการที่หมวดสินค้าวัตถุดิบกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -13.1 รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค และ สินค้ายานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.7 และ 8.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุน ยังหดตัวที่ร้อยละ -26.4 และ -2.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคานำเข้าสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -0.6 และปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -0.9 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -8.8 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 59 เกินดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 106.9 ขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยขยายจากการผลิตในหมวด เครื่องปรับอากาศ และหมวดวิทยุและโทรทัศน์ โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 5.2

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ส.ค. 59 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 18.0 ต่อปีและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 20.0 ตามการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กเส้นกลม ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2

Economic Indicator: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ ร้อยละ 0.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เป็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาน้ำมันเริ่มมีการลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในเดือนนี้ ขณะที่ราคาอาหารสดมีการปรับตัวลดลง และล่าสุดราค่าไฟฟ้าของรอบเดือน ก.ย.- ธ.ค.59 ยังคงราคาไว้เท่าเดิม จึงไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนนี้

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากประกาศครั้งก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 104.1 จุด สูงสุดในรอบ มากกว่า 9 ปี หรือก่อนวิกฤต จากมุมมองตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและอีก 6 เดือนข้างหน้าเชิงบวก ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ 541,000 หลัง หรือกลับมาขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่กลับมาขยายตัว ขณะที่ราคากลางบ้านมือสอง เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ 240,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากเดือนก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ 609,000 หลังต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -7.6 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายทุกภูมิภาคที่หดตัวยกเว้นภาคตะวันตก

China: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม Caixin เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.0 จุดในเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 59 หดตัวร้อยละ -9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน อาเซียน สหรัฐฯ และยูโรโซน ที่ยังคงหดตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 59 หดตัวร้อยละ -17.2 จากทุกหมวดสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -1.9 หมื่นล้านเยน ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 59 หดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดค้าสินค้าทั่วไป เครื่องใช้ในครัวเรือน และเชื้อเพลิงพลังงานที่หดตัว

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 51.7 จุดอย่างไรก็ตามดัชนีฯ ภาคบริการ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด ลดลงจากระดับ 52.8 จุดในเดือนก่อน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ -8.2 ซึ่งแม้จะดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ -8.5 จุด แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงสะท้อนความกังวลของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

South Korea: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อน

Taiwan: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวจากที่หดตัวในเดือนก่อน จากปัจจัยฐานต่ำ

Hong Kong: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 59 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวต่อเนื่อง 15 เดือน จากฐานต่ำในปีก่อน สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 จากที่หดตัวต่อเนื่อง 18 เดือน จากฐานต่ำเช่นเดียวกัน ทำให้ดุลการค้าขาดดุล -3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Vietnam: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคก่อสร้างและภาคบริการเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าในหมวดสุขภาพเพิ่มขึ้นมากที่สุด ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จำนวนนักท่องเที่ยว เดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 27.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ สหภาพยุโรป และไต้หวัน ขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 39.9 33.6 และ 15.7 ตามลำดับ ขณะที่ มูลค่าการส่งออกและนำเข้า เดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ชะลอลงจากเดือนก่อนส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.5 โดยการผลิตในกลุ่มยานยนต์ขยายตัวถึงร้อยละ 16.2

Malaysia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 9.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มสูงขึ้นจากเดือน มิ.ย. 59 ที่อยู่ที่ร้อยละ 8.3 ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 48.6 จุด สูงสุดในรอบ 9 เดือน อนึ่งดัชนีฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนสัญญาณการชะลอตัวในภาคการผลิตอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

Weekly Financial Indicators
ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบใกล้เคียงระดับ 1,500 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 39,715 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 29 ก.ย. 59 ปิดที่ระดับ 1,491.43 จุด โดยมีแรงซื้อจากบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่มีแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนรายย่อยในประเทศ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ก.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 2,103.14 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 1-10 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น จากความไม่แน่นอนด้านทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. 59 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ก.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,183.1 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 29 ก.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 34.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.10 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาค ยกเว้นยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ