รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2016 11:09 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2559

Summary:

1. เบร็กซิททำส่งออกไก่แปรรูปไปอียูและอังกฤษหดตัว

2. กระทรวง DE ตั้งเป้ามูลค่าซื้อขายออนไลน์ 2.5 ล้านล้านบาท

3. IMF เรียกร้องประเทศสมาชิกใช้ทุกเครื่องมือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

1. เบร็กซิททำส่งออกไก่แปรรูปไปอียูและอังกฤษหดตัว
  • นางฉวีวรรณคำพาประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าไก่แปรรูปรายใหญ่ไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู)เปิดเผยว่าการส่งออกสินค้าไก่แปรรูปของไทยไปตลาดอียูและอังกฤษในช่วง8 เดือนแรกของปี 59 หดตัวร้อยละ-6.1และ-7.1 ตามลำดับโดยมีปัจจัยสำคัญจากกรณีที่อังกฤษได้ทำประชามติออกจากอียูหรือเบร็กซิท(เมื่อ 23 มิ.ย.59) ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ค้าขายกันมีความผันผวนและอ่อนค่าลงถึงณปัจจุบันลดลงประมาณ ร้อยละ10 ส่งผลให้ราคาสินค้าไก่ของไทยสูงขึ้นและลูกค้าต่อรองมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปยังสหราชอาณาจักรในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -7.1 ซึ่งไก่แปรรูปเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังสหราชอาณาจักรเป็นอันดับที่ 2 รองจากรถยนต์ และหากพิจารณาข้อมูลการส่งออกไก่แปรรูปในเดือน ส.ค. 59 พบว่ากลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.0 สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเบร็กซิทของสหราชอาณาจักรส่งผลต่อการส่งออกไก่แปรรูปเพียงระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ในระยะต่อไป ขณะที่การส่งออกไก่แปรรูปไปยังอียูในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -6.1 และในเดือน ส.ค. 59 หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.5 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน ก.ค. 59 ที่หดตัวร้อยละ -8.8
2. กระทรวง DE ตั้งเป้ามูลค่าซื้อขายออนไลน์ 2.5 ล้านล้านบาท
  • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่าสำหรับการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ กระทรวงอยากให้มีการเติบโตของการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้รัฐบาลจะสร้างกลไกสนับสนุนทางด้านเงินทุน การเพิ่มศักยภาพและสิทธิพิเศษทางภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งโดยตั้งเป้าจะเพิ่มมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ในปีนี้ให้ได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาขาการขายส่งขายปลีกมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 โดยมีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 13.4 รองจากสาขาอุตสาหกรรมเท่านั้น ทั้งนี้ ธุรกรรมจากการซื้อขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก และมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็ก และอาจมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการต่างๆ สูง อาทิ ต้นทุนด้านการชำระเงิน และการขนส่งสินค้า ดังนั้น การสนับสนุนของกระทรวงดีอี ทั้งด้านเงินทุน ด้านศักยภาพ และสิทธิพิเศษทางภาษี จะเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงเหล่านี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้นอีกด้วย
3. IMF เรียกร้องประเทศสมาชิกใช้ทุกเครื่องมือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความท้าทาย มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงขาลงเพิ่มขึ้น จึงได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกใช้ทุกเครื่องมือเชิงนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การคลัง และการเงิน ทั้งในส่วนที่เป็นของแต่ละประเทศรวมถึงหลายประเทศร่วมกัน ทั้งนี้ สมาชิก 189 ประเทศ ได้ให้คำมั่นที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันลดค่าเงินและไม่กำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้มีความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งจากปัญหาความซบเซาของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศมีการลดการนำเข้าสินค้า และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลงจากแนวโน้มเดิมที่เคยเป็น ซึ่งเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนจากภาคการส่งออกสินค้าที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าเศษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนและไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ทั้งจากการซบเซาของเศรษฐกิจยุโรป ญี่ปุ่น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของสหรัฐฯ จึงทำให้คาดว่าภาคการส่งออกสินค้าของไทยจะยังคงไม่สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งจากประมาณการล่าสุดของสศค.(เดือนก.ค.) คาดว่ามูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐของปี 59 จะหดตัวที่ร้อยละ -1.9

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ