Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2559
Summary:
1. SME ไทยคึกคัก
2. กรมเจ้าท่า ประกาศอัตราค่าโดยสารเรือประจำทางในกรุงเทพฯ
3. PPI จีน ปรับเพิ่มขึ้นในรอบเกือบ 5 ปี
1. SME ไทยคึกคัก
- มนตรี พงษ์พันธุ์ อุปนายกสมาคมการค้าและการลงทุนอาเซียนสากล AITIA และ อัครพงศ์ ศรีสุพรรณดิฐ รองผู้อำนวยการ สสว. ร่วมเป็นประธานเปิดตัว งานมหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีน ส่งออกครั้งที่ 6 (ACIEC 2016) ที่จะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 7 ในวันที่ 4-6 พ.ย.นี้ ซึ่งมี SME ไทยสนใจคับคั่ง
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า SMEs มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดย GDP ของ SMEs คิดเป็นร้อยละ 39.6 ของ GDP รวมทั้งประเทศการส่งออกของ SMEs คิดเป็นร้อยละ 26.2 ของการส่งออกรวม และมีจำนวนแรงงานประมาณ 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80 ของการจ้างงานรวม ดังนั้น การจัดงาน หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ SMEs หรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจ SMEs ย่อมมีความสำคัญ ต่อระบบเศรษฐกิจระดับมหภาคด้วย จากความสำคัญที่ได้กล่าวไปข้างต้น กล่าวคือ จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น กำลังซื้อของประชาชนก็จะมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเม็ดเงินไหลเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี
2. กรมเจ้าท่า ประกาศอัตราค่าโดยสารเรือประจำทางในกรุงเทพฯ
- กรมเจ้าท่าประกาศปรับปรุงอัตราค่าโดยสารเรือกลประจำทางกรุงเทพฯ (เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เรือโดยสารในคลองแสนแสบ เรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา) ซึ่งจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารตามช่วงราคาน้ำมันดีเซล โดยเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟากเจ้าพระยา จะให้มีการปรับค่าโดยสารได้ 4 ช่วงอัตรา ขณะที่เรือคลองแสนแสบจะมี 5 ช่วงอัตรา ทั้งนี้ ให้มีการปรับเพิ่มหรือลดอัตราค่าโดยสารตามช่วงราคาน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันดีเซลมีการเปลี่ยนแปลงข้ามช่วงราคาน้ำมันเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 10 วัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการดังกล่าวนับเป็นมาตรการที่ดีในการสร้างความเป็นธรรมทั้งในกรณีของผู้ประกอบการที่ต้องรับต้นทุนที่สูงขึ้นในภาวะที่น้ำมันมีราคาสูง และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคที่มีการตั้งราคาอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันเป็นขาลง นอกจากนี้ การตั้งราคาดังกล่าว ยังส่งผลให้ราคาสินค้ามีความสอดคล้องกันมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในภาวะที่ราคาน้ำมันลดลง ราคาสินค้าก็ควรมีการปรับตัวลดลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นถึงแม้จะมีรายได้เท่าเดิม แต่หากราคาสินค้าบางประเภทที่มีลักษณะผูกขาดไม่มีการปรับตัวลดลง รัฐจึงต้องมีการเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พบว่าการตั้งราคาสินค้าในหมวดค่าโดยสารสาธารณะ ค่อนข้างสอดคล้องกับราคาต้นทุน โดยข้อมูลล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรก พบว่าราคาสินค้าในหมวดนี้ลดลงร้อยละ -0.2 สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ลดลง จึงอาจกล่าวได้ว่าการตั้งราคามีความเป็นธรรมในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การเสนอมาตรการดังกล่าวจะยิ่งเป็นการดีในการส่งเสริมความชัดเจนในการตั้งราคา สามารถลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
3. PPI จีน ปรับเพิ่มขึ้นในรอบเกือบ 5 ปี
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยดัชนีPPI เดือน ก.ย. ขยับขึ้นร้อย 0.1 เมื่อเทียบ รายปีเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ5ปีและเมื่อเทียบเป็นรายเดือนแล้วดัชนีPPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนในเดือน ก.ย. 59 ปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรอบเกือบ 5 ปี เนื่องมาจากราคาที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมหลักบางแห่ง อาทิ โลหะเหล็ก และเหมืองถ่านหิน ซึ่งการปรับขึ้นของดัชนี PPI ของจีนเป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้เกิดการมีเสถียรภาพของต้นทุนการผลิต สะท้อนภาคการผลิตของจีนที่เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 3 ปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.2 ซึ่งอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 (ในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.4 - 6.8) ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 59
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257