รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 2, 2016 13:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559

Summary:

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.59 อยู่ที่ร้อยละ 0.34

2. สรท. คาดส่งออกไทยปี 59 หดตัวร้อยละ -0.8 - 0.0 และปี 60 จะโตร้อยละ 0-1

3. เกาหลีใต้เผยยอดส่งออกเดือนต.ค.59 หดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.59 อยู่ที่ร้อยละ 0.34
  • กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ต.ค. 59 อยู่ที่ 106.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.16 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.06
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. อยู่ที่ร้อยละ 0.34 ซึ่งขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.16 (%MoM) โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยสินค้าในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.39 อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลายประเภทปรับตัวลดลง เช่น ราคาในหมวดเนื้อสัตว์ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.81 และ ราคาของไข่และผลิตภัณฑ์นม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ ร้อยละ -0.98 ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอื่นค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 59 มีแนวโน้มอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.4 ต่อปี และร้อยละ 2.1 ต่อปี ในปี 60 (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 59) จับตา : อัตราเงินเฟ้อช่วงที่เหลือของปี 59
2. สรท. คาดส่งออกไทยปี 59 หดตัวร้อยละ -0.8 - 0.0 และปี 60 จะโตร้อยละ 0-1
  • สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 59 ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -0.8 ถึงร้อยละ 0.0 ส่วนในปี 60 คาดว่าการส่งออกจะมีอัตราการเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 1.0 เนื่องจากภาวะการส่งออกของประเทศไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า พบว่ามูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 59 หดตัวที่ ร้อยละ -0.7 ต่อปี ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิง และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ที่หดตัวร้อยละ -31.4 และ -4.7 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการหดตัวในตลาดคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน ตะวันออกกลาง และมาเลเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี 59 คาดว่าการส่งออกสินค้าจะมีทิศทางดีขึ้น ตามการส่งออกสินค้าในหมวดอาหารและยานยนต์ที่ยังมีแนวโน้มสดใส ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกไทยในปี 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 1.8 ต่อปี ในปี 60 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น จับตา : การส่งออกไทยช่วงที่เหลือของปี 59
3. เกาหลีใต้เผยยอดส่งออกเดือนต.ค.59 หดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ (MOTIE) ระบุว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือน ต.ค.59 อยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวที่ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของการผลิตรถยนต์นัดหยุดงานและบริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์จากการยกเลิกผลิตสมาร์ทโฟนรุ่น Galaxy Note 7
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกเกาหลีใต้จากที่ขยายตัวในเดือน ส.ค. 59 ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี กลับมาหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนส.ค. และต.ค. โดยเดือนต.ค. 59 การส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -3.2 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1) การผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศซบเซา โดยเฉพาะปัญหาในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยในเดือน ต.ค.59 ยอดการส่งออกสมาร์ทโฟนของเกาหลีใต้ หดตัวถึงร้อยละ -28.1 ต่อปี และ 2) แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกกว่า 1 ใน 4 ของการส่งออกเกาหลีใต้รวม ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 59) จับตา : การส่งออกเกาหลีใต้ในช่วงที่เหลือของปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ