รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2016 10:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559

Summary:

1. ซีพี เร่งช่วยซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรจนกว่าสถานการณ์ราคาจะดีขึ้น

2. พาณิชย์เชิญคู่ค้าต่างประเทศซื้อขายข้าว 13 - 16 พ.ย.

3. จีนคงการเติบโต - เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ

1. ซีพี เร่งช่วยซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรจนกว่าสถานการณ์ราคาจะดีขึ้น
  • นายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยหากรัฐบาลพิจารณาระงับการนำเข้าข้าวสาลีจนกว่าสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจะดีขึ้นและเกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ล่าสุดในเดือน ก.ย. 59 ดัชนีราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประกาศโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หดตัวร้อยละ -8.6 และเฉลี่ย 9 เดือนแรก พบว่า หดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวสาลีซึ่งมีราคาถูกกว่าเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นสินค้าทดแทนข้าวโพดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ทั้งนี้ หากยังคงมีการนำเข้าข้าวสาลีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปอีก โดยเฉพาะในเดือน ก.ย. - ธ.ค. นี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวโพด ดังนั้นหากบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่มีการงดการนำเข้าข้าวสาลี และหันไปใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ ก็จะช่วยให้สถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวดีขึ้นได้ และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วย
2. พาณิชย์เชิญคู่ค้าต่างประเทศซื้อขายข้าว 13 - 16 พ.ย.
  • รมว. พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 - 16 พ.ย. นี้ ได้เชิญคณะผู้แทนทางการค้าและผู้ซื้อจากต่างประเทศกว่า 170 ประเทศทั่วโลก มาเจรจาจับคู่ธุรกิจในการซื้อขายข้าว รวมทั้งยังได้มีแผนเดินทางไปโรดโชว์ ในกลุ่มประเทศแอฟริกา และตะวันออกกลาง เพื่อให้เกิดการซื้อขายข้าวมากขึ้น ทั้งแบบรัฐต่อรัฐ และเอกชนกับเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าในช่วงสามปีหลัง ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยประกอบไปด้วย ประเทศจีน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในแอฟริกา โดยหากพิจารณาภาพรวมการส่งออกข้าวของไทยพบว่าในปีก่อนหน้า (ปี 58) การส่งออกข้าวโดยรวมหดตัวร้อยละ -15.2 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี59 การส่งออกข้าวก็ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -4.4 ซึ่งจากต้นปีเป็นต้นมา ไทยมีการส่งออกข้าวไปยังประเทศเบนินมากที่สุด โดยขยายตัวถึงร้อยละ 66.3 อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวไปยังตลาดหลักอย่างประเทศจีนและสหรัฐฯ กลับมีการหดตัวร้อยละ -11.4 และ -11.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ การเจรจาจับคู่ทางธุรกิจตามข่าว อาจจะสามารถช่วยกระตุ้นการส่งออกข้าวได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นช่วงที่ข้าวนาปีจะมีการเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปีนี้
3. จีนคงการเติบโต - เร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ
  • นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนจะคงการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเอาไว้ เพื่อเสริมสร้างการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในฝั่งการผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาด ขณะเดียวกันการเพิ่มความต้องการก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ ส่วนการปรับโครงสร้างและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจก็จะสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ต่อการเติบโตเช่นกัน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากปัญหาการส่งออกที่อ่อนแออย่างหนัก ประกอบกับราคาที่พักอาศัยและระดับหนี้สินที่พุ่งขึ้น ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอความร้อนแรงลง โดยข้อมูล GDP ล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 ซึ่งการขยายตัวชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปยังจีน ทำให้เศรษฐกิจประเทศเหล่านั้นชะลอตัวตาม อย่างไรก็ดี จากการที่รัฐบาลจีนมีแผนปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และดำเนินการตามนโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่น่าเชื่อถืออย่างสัมพันธ์กันนั้น อาจจะส่งผลดีให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคต รวมถึงส่งผลดีต่อประเทศที่พึ่งพาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนให้ขยายตัวดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 และคาดว่าในปี 60 จะขยายตัวร้อยละ 6.5 ( คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค.59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ