นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า “ในเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 203,848 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 16,054 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 37,859 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.8) โดยการนำส่งรายได้ของส่วนราชการอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรสูงกว่าประมาณการ 11,540 6,319 และ 673 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.1 21.2 และ 0.6 ตามลำดับ”
ทั้งนี้ นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการในเดือนตุลาคม 2559 ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีน้ำมัน ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2560 โดยกระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐประจำปี 2560 เป็นต้น จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลต่อไป”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนตุลาคม 2559
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 203,848 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,054 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.8) โดยการนำส่งรายได้ของส่วนราชการอื่นและรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 11,540 และ 6,319 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.1 และ 21.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีสูงกว่าประมาณการ 673 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 ในขณะที่กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีต่ำกว่าประมาณการ 2,775 2,038 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 และ 4.7 ตามลำดับ
1. กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 114,222 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 673 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0)
ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,012 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.7) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) และคลังหัก ณ ที่จ่าย ขยายตัวได้ดี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 680 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.1 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.7) อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 922 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.6) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 920 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.4) สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับประมาณการ
2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 41,020 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,038 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.7)
ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,151 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.9) เนื่องจากปริมาณยาสูบที่ชำระภาษีน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ประกอบกับผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคยาสูบราคาที่ถูกเพิ่มขึ้น และภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 582 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.2 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.1)
อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 317 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.3)
3. กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 7,825 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,775 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.6) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,717 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.8) เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
4. รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 36,091 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,319 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.2 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 80.5) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของการไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณ 2559
5. หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 28,883 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,537 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.5 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 142.4) เนื่องจากการนำส่งเงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เพื่อปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 152 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 3 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 28.8) เนื่องจากรายได้ที่ราชพัสดุจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
6. การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 20,400 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,611 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 17,500 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,800 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 2,900 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 189 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0
7. อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 1,293 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 323 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.3
8. การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 1,300 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 49 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6
9. เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 1,200 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3573
--กระทรวงการคลัง--