Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559
1. ปลัดพาณิชย์มั่นใจไม่เกินปีนี้ มาตรการรัฐดันราคาข้าวหอมมะลิขยับอีกตันละ 1 พันบาท
2. กรมบัญชีกลาง เผยผลเบิกจ่ายเดือนแรกปีงบฯ 60 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 6.22
3. เงินหยวนอ่อนค่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี ที่ 6.8495 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้านต้นทุนและชะลอการขายข้าว ได้ส่งผลแล้วต่อคุณภาพข้าวเริ่มดีขึ้น ทั้งข้าวเปลือกแก่เต็มที่และตากแห้งจนเหลือความชื้นเฉลี่ย 16-28% จากก่อนหน้านี้ความชื้นสูงเกิน 30% จึงขายได้ราคาต่ำ ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิขยับขึ้นแล้ว 500 บาทต่อตันในสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีโอกาสปรับขึ้นเกิน 1,000 บาทต่อตันก่อนปีใหม่นี้ จากราคาเฉลี่ยตันละ 9,700-10,000 บาท (ความชื้นต่ำกว่า 15%)
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิ 100% ของไทย ที่สำคัญ ได้แก่ (1) สหรัฐ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 มีมูลค่าส่งออกข้าวหอมมะลิ 245.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) ฮ่องกง มูลค่า 104.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) จีน มูลค่า 74.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สาเหตุที่คาดว่ามีผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาดโลก ได้แก่ 1) ผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกหลักของเอเชีย โดยเฉพาะ อินเดีย และเวียดนาม ที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้สต็อกข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2) ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล และข้าว 3) อุปสงค์โลกที่ยังเปราะบางตามการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ความต้องการการบริโภคข้าวของโลกชะลอตัวตาม โดยในปี 59/60 ประเทศผู้บริโภคสำคัญ โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และ บังคลาเทศ หดตัวร้อยละ -0.8 -3.8 และ -0.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือชาวนาด้านต้นทุนและชะลอการขายข้าว ประกอบกับมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรหลายโครงการ จะช่วยให้ข้าวที่ออกสู่ตลาดมีคุณภาพดีขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้ อีกทั้งช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จับตา: ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกในเดือน พ.ย. 59
- อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ในช่วงเดือนแรกของปีงบประมาณ 60 เบิกจ่ายได้ 4.22 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 3.95 แสนล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุน (กรณีไม่รวมงบกลาง) เบิกจ่ายได้ 2.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเบิกจ่ายในภาพรวมได้สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 6.22 และขยายตัวร้อยละ 2.22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ในช่วงเดือนแรกปีงบประมาณ 60 ได้สูงกว่าเป้าหมายนั้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการหมุนเวียนของเงินลงทุนในระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ในขณะที่ในปี 60 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 59 จับตา: ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 60
- China Foreign Exchange Trading System (CFETS) รายงานว่า เงินหยวนปรับตัวลงอย่างมากมาอยู่ที่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี โดยอ่อนค่าลงร้อยละ 2.0 ต่อปี แตะที่ 6.8495 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 8 ติดต่อกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 59 เป็นต้นมา และทำสถิติแตะระดับอ่อนสุดในรอบ 6 ปี เมื่ออาทิตย์ก่อน จากปัจจัยของการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐตามการคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. 59 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ และแนวโน้มเงินทุนไหลออกจากจีนที่เริ่มกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ประกอบกับสถานการณ์หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินหยวนล่าสุดปรับตัวลงต่อเนื่องใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่การอ่อนค่าในปี 51 อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินหยวนดังกล่าว ส่งผลดีต่อการส่งออกของจีน สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกในเดือน ต.ค.59 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -7.4 ต่อปี หลังจากในเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 การส่งออกหดตัวสูงถึงร้อยละ -10.2 ต่อปี ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ในปี 59 เศรษฐกิจจีนในภาพรวม จะโตได้ร้อยละ 6.7 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค.59) จับตา: ค่าเงินหยวนในเดือน พ.ย. 59
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257