รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 17, 2016 10:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559

Summary:

1. บอร์ด สสว. อนุมัติจัดสรรเงินกองทุนช่วย SME ปีงบ 60 กว่า 3.2 พันลบ.

2. โฆษกรัฐบาล เผยผลการแก้ปัญหา IUU ของไทย จากอียู

3. ออสเตรเลียเผยค่าจ้างชะลอตัวทำสถิติต่ำสุด หวั่นกระทบการบริโภค-เศรษฐกิจ

1. บอร์ด สสว. อนุมัติจัดสรรเงินกองทุนช่วย SME ปีงบ 60 กว่า 3.2 พันลบ.
  • นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินกองทุนของ สสว. เพื่อเสริมสร้างพัฒนาและให้ความช่วยเหลือ SME ประจำปีงบประมาณ 2560 เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,256 ล้านบาท เพื่อให้การอุดหนุนและช่วยเหลือตามมาตรการฟื้นฟูกิจการ SMEs
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธุรกิจ SMEs มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดย GDP ของ SMEs คิดเป็นร้อยละ 39.6 ของ GDP รวมทั้งประเทศ การส่งออกของ SMEs คิดเป็น ร้อยละ 26.2 ของการส่งออกรวม และมีจำนวนแรงงานประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของการจ้างงานรวม ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลที่จัดสรรเงินกองทุนโดยตรงเพื่อเสริมสร้างพัฒนาและให้ความช่วยเหลือ SMEs จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจ SMEs เพื่อนโยบายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจระดับมหภาคด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ประจำปี 60-61 ซึ่งเป็นการนำแผนแม่บท SMEs 4.0 (พ.ศ. 60-64) มาสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งคาดว่าเงินกองทุนช่วยเหลือ SMEs ดังกล่าวจะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น กำลังซื้อของประชาชนก็จะมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเม็ดเงินไหลเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 60 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ต.ค.59)
2. โฆษกรัฐบาล เผยผลการแก้ปัญหา IUU ของไทย จากอียู
  • อธิบดีพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะผู้แทนกรรมาธิการประมง (PECH) รัฐสภายุโรป ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยได้ชื่นชมความพยายามในการแก้ไขปัญหาของไทย โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมาย แผนการทำงาน และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่ชัดเจนในหลายด้าน ทั้งนี้ ผู้แทนจากอียู แนะนำให้มีการจัดระเบียบและคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงอีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่สหภาพยุโรปได้ประกาศให้ "ใบเหลือง" ไทยเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายตามกฎของ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ในวันที่ 21 เม.ย. 58 ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในปี 58 โดยติดลบที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี มีมูลค่า 59,214.31 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะแรกประเทศไทยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU แบ่งออกเป็น 6 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย 1) การจดทะเบียนเรือประมง 2) การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3) การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ 4) การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับหรือ Traceability 5) การปรับปรุง พ.ร.บ. การประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6) การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และ ไร้การควบคุม ซึ่งจากผลของการดำเนินมาตรการดังกล่าว ส่งผลดีต่อธุรกิจประมงของไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 มีมูลค่า 50,899.89 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 21.7 ต่อปี
3. ออสเตรเลียเผยค่าจ้างชะลอตัวทำสถิติต่ำสุด หวั่นกระทบการบริโภค-เศรษฐกิจ
  • สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย รายงานว่า ดัชนีราคาค่าจ้างของออสเตรเลียประจำไตรมาสที่ 3 ปี 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้า และนับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการขยายตัวของค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดเช่นกัน และต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีค่าจ้างของออสเตรเลียที่ชะลอลงในไตรมาสที่ 3 ปี 59 เป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มของประชาชนในการใช้จ่ายที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนก.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ต่อกำลังแรงงานรวม และยอดค้ายานพาหนะใหม่เดือนก.ย. 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับมูลค่าการส่งออกในเดือนก.ย. 59 หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี มาจากสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ โลหะ และอุปกรณ์ขนส่งที่หดตัวสูง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 59 และปี 60 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 และ 2.9 ต่อปี ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือนต.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ