ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2016 10:54 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เป็นผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) เมื่อวันที่ 10-11 ธันวาคม 2559 ณ เมืองกุ้ยหยาง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจการเงิน ดังนี้

1. ภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ประชุมได้หารือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกร่วมกับผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) โดยคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะขยายตัวดีขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 แต่ก็มีความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา การดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ผลกระทบจากการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ผลการเลือกตั้งในทวีปยุโรปหลายประเทศในปี 2560 และนโยบายการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 นั้นยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องใกล้เคียงกับปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะเติบโตได้ดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะชะลอตัวต่อเนื่องในปีหน้า อย่างไรก็ดี ภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกภูมิภาคและการอ่อนค่าของเงินสกุลท้องถิ่น รวมถึงความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคเอกชน ดังนั้น ประเทศอาเซียน+3 จึงเห็นพ้องที่จะต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างรอบคอบเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

2. การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 มีขนาดวงเงินช่วยเหลือรวม 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับ (1) การเตรียมความพร้อมของกลไก CMIM หากมีสมาชิกขอรับความช่วยเหลือ (2) การพัฒนากลไกการให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการเกิดวิกฤต (CMIM Precautionary Line)

(3) ความเป็นไปได้ในการเพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือของ CMIM กรณีสมาชิกไม่เข้าโครงการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund De-linked Portion) และ (4) แผนการทบทวนหลักการสำคัญของ CMIM

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ AMRO ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตาม และเฝ้าระวังเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 โดยที่ประชุมได้ให้

ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ AMRO แผนการดำเนินงานในปี 2560 และแนวทางการบริหารองค์กรด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้ AMRO เป็นองค์กรที่ปรึกษาให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ที่มีความเป็นอิสระ น่าเชื่อถือ และเป็นมืออาชีพ

4. มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออม โดยมีความคืบหน้าหลัก ได้แก่ การดำเนินงานของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งได้ค้ำประกันการออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของบริษัทเอกชนในภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ และการดำเนินโครงการประสานกฎเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Multi-Currency Bond Issuance Framework: AMBIF) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการออกตราสารหนี้ข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน+3

อนึ่ง ในช่วงเช้าของวันที่ 10 ธันวาคม 2559 AMRO ได้จัดการประชุม ASEAN+3 Financial Forum ซึ่งเป็นเวทีหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภูมิภาคอาเซียน+3 นักวิชาการ และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ภายใต้หัวข้อ East Asia in a Dynamic New World โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้าง

ความแข็งแกร่งให้กับ CMIM ซึ่งเป็นโครงข่ายความปลอดภัยทางการเงินของภูมิภาค และสนับสนุนให้ AMRO มีบทบาทมากขึ้น การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 ในครั้งนี้

เป็นการหารือร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียน+3 และ AMRO ซึ่งทำให้เห็นประเด็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคที่ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยควรคำนึงถึงในการกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับทิศทางและบทบาทของ CMIM ที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป

ส่วนความร่วมมือภูมิภาคและพหุภาคี สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 2739020 ต่อ 3622 และ 3618

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ