มาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2017 11:21 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก รวมทั้งมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และมาตรการส่งเสริมด้านการตลาด เพื่อช่วยดึงดูดและกระตุ้นให้มีการซื้อขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มมากขึ้น และผลักดันสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ (Product Champion) รวมทั้งสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานฝีมือเพื่ออนุรักษ์การผลิตที่เป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของไทย และแก้ไขข้อจำกัดที่สำคัญนอกเหนือจากอุปสรรคด้านภาษีอากร โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. มาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตอนที่ 71 จำนวน 32 ประเภทย่อย เช่น เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เครื่องทองหรือเครื่องเงิน เครื่องประดับที่ทำด้วยไข่มุก เป็นต้น

2. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

2.1 มาตรการทางภาษี ให้ผู้ประกอบการสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าสำหรับรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างของแรงงานที่เป็นช่างเครื่องประดับ เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี โดยช่างเครื่องประดับจะต้อง จดทะเบียนกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งจะเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพื่อเป็นการอนุรักษ์การผลิตที่เป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของไทย

2.2 มาตรการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะกำหนดมาตรการเพื่อจัดทำและพัฒนามาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมทั้งการกำหนดตราสัญลักษณ์กลางที่ใช้ รับประกันคุณภาพ (Hallmarking) และการจัดประกวดออกแบบเครื่องประดับระดับนานาชาติ

2.3 มาตรการยกระดับฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะกำหนดมาตรการเพื่อพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศไปสู่ผู้ผลิตรายย่อย การจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมและพัฒนาช่างศิลป์ และการพัฒนาทายาทช่างฝีมือเพื่ออนุรักษ์การผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย

2.4 มาตรการทางการเงิน ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบกิจการ SMEs ให้สามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน และธนาคารออมสินเบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 จากเดิมผู้ประกอบกิจการ SMEs สามารถยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน และธนาคารออมสินเบิกจ่ายสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งขณะนี้เหลือวงเงินอยู่ 17,323 ล้านบาท

3. มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด

ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดให้มีการประชาสัมพันธ์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพ การประชาสัมพันธ์แหล่งการท่องเที่ยวในย่านการค้าที่สำคัญ เช่น แหล่งการค้าอัญมณีและเครื่องประดับย่านถนนสีลม เจริญกรุง มเหสักข์ ในจังหวัดกรุงเทพฯ ศูนย์กลางการค้าพลอยสี ย่านถนนศรีจันทร์ ในจังหวัดจันทบุรี ศูนย์กลางการค้าพลอยสีที่ข้ามแดนมาจากเมียนมาร์ ย่านถนนประสาทวิถี ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นต้น การจัดแสดงสินค้าในงาน Thailand Grand Sale รวมถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าที่มีคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยวบนสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในสายการบิน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นที่รู้จักและมีการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น

สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3511, 3514

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ