รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 6, 2017 14:19 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 59 ขยายตัว ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.4
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.6
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 63.1
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ธ.ค. 59 เกินดุล 3,719.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 59 มียอดคงค้าง 16.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.6
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 59 มียอดคงค้าง 17.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 60 เท่ากับ 104.6 สูงขึ้น ร้อยละ 2.4
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 4 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 4 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัว ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัว ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) ของจีน เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.0 จุด
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี อาทิ แผงวงจรรวม จากความต้องการในกลุ่มสมาร์ทโฟน รวมทั้งอุตสาหกรรมยาง และเครื่องประดับที่มีความต้องการจากต่างประเทศสูง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการผลิตที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ได้รับผลจากปัจจัยฐานสูงจากการเร่งผลิตก่อนการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ และหมวดเครื่องดื่มจากการงดงานรื่นเริง ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 และทำให้ทั้งปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาส 4 ปี 59 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล และทั้งปี 59 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ราคาสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูป และอาหารทะเลมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าผักและผลไม้ รวมถึงสินค้าประเภทไข่มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากขึ้น รวมถึงราคาค่าไฟฟ้าก็มีการปรับลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเดือน ม.ค. อยู่ที่ร้อยละ 0.7

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 63.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 62.5 ในเดือน ธ.ค. 59 จากการส่งออกในเดือน ธ.ค. 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 ประกอบกับความคาดหวังของประชาชนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ธ.ค. 59 เกินดุล 3,719.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,194.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุลถึง 2,047.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการส่งออก (ตามระบบ BOP) ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ต่างประเทศในหลายสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ แผงวงจรเพื่อผลิตสมาร์ทโฟน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนอุปสงค์จากจีนที่เร่งขึ้นชั่วคราวในสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ยังเกินดุลสูงถึง 1,671.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทั้งปี 59 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 46,412.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 59 มียอดคงค้าง 16.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลง และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวอย่างทรงตัวที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 59 มียอดคงค้าง 17.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากการขยายตัวในเดือนก่อนหน้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 60 เท่ากับ 104.6 สูงขึนร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนสาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดต่าง ๆ โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 17.6

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) โดยการบริโภคขยายตัวทรงตัวขณะที่การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ทั้งนี้ GDP ทั้งปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีที่ 56.0 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่ การผลิต และการจ้างงานที่เร่งขึ้น ขณะที่สินค้าคงคลังหดตัว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 60 FOMC มีมติคงอัตราดอกเบียนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 - 0.75 ต่อปี

Japan: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ทึ่ระดับ 52.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 52.3 จุด

Eurozone: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) ส่งผลให้ทั้งปี 59 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.7 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ -4.7 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 ที่อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด สูงสุดในรอบกว่า 5 ปีครึ่ง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 9.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

China: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.0 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใน 47 เดือน สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (NBS) ที่อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้ ด้านดัชนี PMI ภาคบริการ (NBS) อยู่ที่ระดับ 54.6 จุด อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

UK: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ -5.0 จุด (เบื้องต้น) ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ด้าน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.9 จุด สูงสุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง ขณะที่ ดัชนีฯ ภาคก่อสร้างอยู่ที่ระดับ 52.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อน และเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 60 ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบียนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี และคงเป้าหมายมาตรการ QE ที่ 435 พันล้านปอนด์

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 เพิ่มขึนอยู่ที่ระดับ 49.9 จุด

Hong Kong: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 กลับมาลดลงอยู่ที่ 49.9 จุด

South Korea: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 49.0 จุด จาก 49.4 จุดในเดือนก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงเล็กน้อย มูลค่าการส่งออกและนำเข้า เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.2 และ 18.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจากฐานต่ำ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดใน 2 ปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 เร่งขึนอยู่ที่ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 4 ปี

Taiwan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ 55.6 จุด

ASEAN: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 59 ที่เท่ากับระดับ 50.0 จุด เนื่องจากดัชนีของประเทศส่วนใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Indonesia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 เร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากสินค้าหมวดบ้าน สุขภาพและการขนส่ง

Vietnam: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากผลผลิตหมวดเหมืองแร่และเครื่องมือสื่อสาร อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน และสูงสุดในรอบ 12 เดือน จากสินค้าหมวดขนส่ง เครื่องดื่มและยาสูบ ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 9.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อย จากหมวดโรงแรมและร้านอาหาร มูลค่าการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 15.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าเครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Australia: mixed signal

การส่งออก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 40.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบกว่า 6 ปีครึ่งขณะที่การนำเข้าหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.1 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 6.4 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ด้าน ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 54.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 57.7 จุดและ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 2 ก.พ. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,572.7 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ถึง 51,563.0 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ตามการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ประกอบกับการทำกำไรในกลุ่มพลังงาน ทำให้ระหว่างสัปดาห์ ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักลงทุนจับตามองผลการประชุม FOMC BOE และ BOJ ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยระหว่างวันที่ 30 ม.ค. - 2 ก.พ. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,270 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นคงที่ ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตระยะกลางถึงยาวปรับตัวลดลง 1-5 bps โดยผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 1.32 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. - 2 ก.พ. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดพันธบัตรสุทธิ 17,637 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 2 ก.พ. 60 เงินบาทปิดที่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.34 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลอื่น ๆ ยกเว้นริงกิต อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ ร้อยละ 0.04 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ