รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 มกราคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 27, 2017 15:13 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 59 มีมูลค่า 18,164.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.2 ส่วนมูลค่าการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 59 มีมูลค่า 17,226.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.3 ทำให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 59 เกินดุล 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. 59 ได้จำนวน 179.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -24.7 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 59 ปีงปม. 60 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 358.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค. 59 ปีงปม.60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณ ขาดดุลจำนวน -165.5 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 59 มีมูลค่า 61,589 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริง หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -29.0 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวน 29,467 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวน 57,391 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -13.9 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวน 3.06 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ของอังกฤษ ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน (ตัวเลขเบื้องต้น)
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ของเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ของไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ตัวเลขเบื้องต้น)
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ของฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 59 มีมูลค่า 18,164.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.2 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.2 จากการขยายตัวได้ดีทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 19.4 ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 5.4 ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ยานยนต์เป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรก็ขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 8.7 และ 4.8 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 59 ขยายตัวดีที่ร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.9 และปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 3.3 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5

  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 59 มีมูลค่า 17,226.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.3 จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.0 ประกอบกับสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวในระดับสูงเช่นกันที่ร้อยละ 15.8 รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ก็ขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 5.0 และ 13.1 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 และปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 4.6 ทำให้มูลค่าการนำเข้าทั้งปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -3.9 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 59 เกินดุล 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ทั้งปี 59 เกินดุล 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. 59 ได้จำนวน 179.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -24.7 ต่อปี แต่สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5.0 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.8 ของประมาณการเอกสารงบประมาณ โดยเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ต่อปี และการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ต่อปี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงร้อยละ -1.0 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อปี ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 552.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.8 ต่อปี แต่สูงกว่าประมาณการ 27.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของประมาณการเอกสารงบประมาณ
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 59 ปีงปม. 60 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 358.0 พันล้านบาท เพิ่มขึนร้อยละ 26.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 305.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 ต่อปี โดยแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 262.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 42.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 13.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 60 สามารถเบิกจ่ายได้ 876.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 32.1 ของวงเงินงบประมาณ (2,733.0 ล้านล้านบาท)

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค. 59 ปีงปม.60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณ ขาดดุลจำนวน -165.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -0.1 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -165.6 พันล้านบาท ทำให้ในไตรมาส 1 ของปีงปม. 60 ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -415.2 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ ขาดดุล -55.3 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -470.6 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 74.9 พันล้านบาท

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 59 มีมูลค่า 61,589 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริง หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศหดตัวร้อยละ -8.0 ขณะที่การจัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี และทั้งปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -29.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาส 4/59 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -17.8 ต่อปี และคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล และในปี 59 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวน 29,467 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -15.4 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.4 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล เป็นผลจากปัจจัยฐานยอดขายในปลายปีที่ผ่านมาสูงกว่าปกติเนื่องจากมีการเร่งซื้อก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ทั้งนี้ไตรมาสที่ 4 ของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -10.6 และทั้งปี 59 หดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวน 57,391 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -13.9 ต่อปีและคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ในไตรมาสที่ 4/59 ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -15.3 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -5.8 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล และในปี 59 ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวทั้งสิ้นร้อยละ -2.0 ต่อปี

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวน 3.06 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปีซึ่งถือเป็นการกลับมาเป็นบวกครังแรกหลังจากเดือนก่อนหน้ามีการติดลบร้อยละ -4.4 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากกลุ่มยุโรป อาเซียนและอเมริกา เป็นหลัก โดยมีการขยายตัวร้อยละ 7.7 3.6 และ 16.9 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ทั้งไตรมาสที่ 4 ปี 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 7.77 ล้านคน หดตัวร้อยละ -0.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจาก จีนที่มีการหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -20.7 ต่อปี ส่งผลให้ในปี 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 32.59 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวจาก จีน รัสเซีย และอาเซียนเป็นหลัก โดยเป็นการขยายตัวร้อยละ 10.3 23.3 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ตลาดบ้านมือสองเดือน ธ.ค. 59 ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยยอดขายบ้านมือสองอยู่ที่ 4.37 แสนหลัง หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายคอนโดมิเนียมที่หดตัวถึงร้อยละ -5.9 นอกจากนี้ ราคากลางบ้านมือสองหดตัวร้อยละ -0.9 จากเดือนก่อนหน้า จากราคาทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัว ขณะที่ในตลาดบ้านใหม่เดือน ธ.ค. 59 ยังมีสัญญาณขยายตัวดี โดยยอดสร้างบ้านใหม่อยู่ที่ 1.226 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 11.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการสร้างทาวน์โฮมที่เร่งขึ้นมาก ขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.2 จากใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่หดตัว

Japan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด เพิ้มขึ้นเล็กน้อยจาก 52.4 จุดในเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นสอดรับกับการจ้างงาน ในขณะที่สินค้าคงคลังปรับตัวลดลง ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 59 กลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -2.6 จากช่วเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24 ทำให้ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 59 เกินดุล 641.4 พันล้านเยน ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ -4.9 จุด (เบื้องต้น) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ -5.1 จุด ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.1 จุด (เบื้องต้น) สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่าจากการขยายตัวในภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ภาคบริการเดือนเดียวกัน อยู่ที่ระดับ 53.6 จุด (เบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด และดัชนีฯ รวมอยู่ที่ระดับ 54.3 จุด (เบื้องต้น) ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน (ตัวเลขเบื้องต้น) โดยมีภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก เช่น ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจตัวแทนจำหน่ายการท่องเที่ยว เป็นต้น ด้านยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน

Hong Kong: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 8.1 ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.6 ในเดือนก่อน ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 59 เกินดุล 3.4 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง

South Korea: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทำให้ทั้งปี 59 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.7 ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 2.6 ในปีก่อน

Taiwan: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ทั้งปี 59 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปีก่อน อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 9.1 ในเดือนก่อน จากผลผลิตภาคเหมืองแร่ที่หดตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 4.8 ในเดือนก่อน

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.0 จากราคาสินค้าหมวดอาหาร การขนส่ง และการสื่อสารที่เร่งขึ้น อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 4 ปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ของกำลังแรงงานรวมเร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 21.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ผลจากสินค้าในหมวดวัสดุอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้น

Philippines: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ผลจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม ทำให้ทั้งปี 59 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.8

Australia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 4 ปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.3 และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 59 เฉลี่ยที่ร้อยละ 1.3

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ วันที่ 26 ม.ค. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,591.0 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ถึง 61,337 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4 ปี 59 ที่ทยอยประกาศออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอยู่ในเชิงบวก ทำให้ระหว่างสัปดาห์ ดัชนีฯ ปรับตัวสูงขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 1,600 จุด แต่ยังคงไม่สามารถเกินแนวต้านดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 ม.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 555 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นถึงกลางค่อนข้างคงที่ ขณะที่อัตราฯ พันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นขึ้นประมาณ 2-12 bps โดยผลการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปีมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 1.37 และ 1.35 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 ม.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากพันธบัตรสุทธิ 8,158 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 26 ม.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 35.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.53 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินเยน ยูโร ริงกิต และดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.17 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ