รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 - 10 กุมภาพันธ์ 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 10, 2017 11:01 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 161,413 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,921.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.2 ของ GDP
  • วันที่ 8 ก.พ. 60 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • GDP อินโดนีเซีย ไตรมาส 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลการค้าของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 59 ขาดดุล -44.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ยอดค้าปลีกของสหภาพยุโรป เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Caixin) ของจีน เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด
  • เมื่อวันที่ 7 เดือน ก.พ. 59 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
  • เมื่อวันที่ 8 เดือน ก.พ. 59 ธนาคารกลางอินเดียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 6.25 ต่อปี
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ของสหราชอาณาจักร เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 54.5 จุด
Economic Indicators: This Week

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 161,413 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนนับเป็นการหดตัวครั้งแรกหลังจากขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน โดยในเดือนล่าสุดหดตัวในเขตกทม. ร้อยละ -7.5 แต่หดตัวในเขตภูมิภาค ร้อยละ -5.8 เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูง ทั้งนี้ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ยังขยายตัวได้ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,921.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.2 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 22.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 98.1 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 94.4 ของยอดหนี้สาธารณะ)

วันที่ 8 ก.พ. 60 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดิมต่อเนื่องมากกว่า 1 ปีครึ่งติดต่อกัน โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น สำหรับภาวะ การเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอี้อต่อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.5 จุด ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีหมวดกิจกรรมทางธุรกิจ คำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน อยู่ในระดับสูง บ่งชี้ความแข็งแกร่งของภาคบริการสหรัฐฯ ตลาดแรงงาน เดือน ม.ค. 60 มีสัญญาณแข็งแกร่ง โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ม.ค. 60 เพิ่มขึ้น 2.27 แสนตำแหน่ง จากภาคบริการที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะบริการทางธุรกิจ ค้าปลีก และการศึกษา สอดคล้องกับรายได้ภาคเอกชนเฉลี่ยที่อยู่ที่ระดับสูงถึง 905.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 62.9 ของประชากรวัยแรงงานส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 59 ขาดดุล -44.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลง

Eurozone: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด ทรงตัวอยู่ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ Caixin เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุดแม้ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50.0 จุดต่อเนื่อง สะท้อนภาคบริการของจีนที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านการนำเข้า เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี และเกินดุลการค้าที่ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Australia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยที่ยอดค้าปลีกสินค้าในหมวดเครื่องใช้สอยภายในครัวเรือนและหมวดอื่น ๆ ขยายตัวชะลอลง ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 54.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 57.7 จุด และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 59 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

India: mixed signal

การส่งออก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปี ด้านการนำเข้า เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขาดดุลการค้าที่ 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ธนาคารกลางอินเดียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 6.25 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 จากยอดขายสินค้าคงทนที่หดตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง

Taiwan: improving economic trend

การส่งออก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 การนำเข้า เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และดุลการค้า เดือน ม.ค. 60 เกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือน จากราคาสินค้าทุกหมวดย่อยที่เพิ่มขึ้น

Indonesia: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อน (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาครัฐและสินค้าคงคลัง ส่งผลให้ทั้งปี 59 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.0 ด้านยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Malaysia: improving economic trend

การส่งออก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากการส่งออกพลังงานธรรมชาติ และสินค้าอุตสาหกรรม ด้านการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง และดุลการค้าเกินดุลที่ 8.7 พันล้านริงกิต

Philippines: mixed signal

การส่งออก เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านการนำเข้า เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 19.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 19.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 60 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี

UK: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 54.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 9 ก.พ. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,583.3 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ถึง 55,356.0 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ตามการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นสำคัญ เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ การเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคาร ทำให้ระหว่างสัปดาห์ ดัชนีฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยระหว่างวันที่ 6 - 9 ก.พ. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,137.0 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันคงที่ ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตระยะกลางถึงยาวปรับตัวลดลง 2-10 bps โดยผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปีมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 1.46 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 9 ก.พ. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดพันธบัตรสุทธิ 25,268.4 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 9 ก.พ. 60 เงินบาทปิดที่ 35.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.22 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับเงินสกุลอื่น ๆ ยกเว้นเยนและวอนที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินเยนและวอน โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.25 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ