นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 เห็นชอบมาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมาย บัดนี้ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติมเปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง (โดย 1 เท่าแรกเป็นการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามจำนวนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามปกติ ส่วนอีก 0.5 เท่า เป็นการหักรายจ่ายเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ วิธี และเงื่อนไขที่กำหนด) ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560
2.1 ต้องเป็นการลงทุนในทรัพย์สินดังต่อไปนี้ (1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ (2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร และ (4) อาคารถาวร
2.2 ทรัพย์สินตามข้อ 2.1 ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ไม่เคยผ่านการใช้งาน (2) ต้องสามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เว้นแต่ทรัพย์สินเฉพาะเครื่องจักร (3) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่ยานพาหนะ (4) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร (5) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
2.3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิจะต้องจัดทำโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงิน และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร
2.4 การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับทรัพย์สินแต่ละประเภทให้เป็นไปตามตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักนโยบายภาษี
โทร. 02-273-9020 ต่อ 3513
--กระทรวงการคลัง--