นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่สองต่อเนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อขยายผลไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศต่อไป
ในการดำเนินโครงการ กระทรวงการคลังได้นำส่งรายชื่อผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในจังหวัดสุพรรณบุรี จากฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 17,258 คน และมีมูลหนี้ นอกระบบ รวมเป็นเงิน 930.27 ล้านบาท หรือมีมูลหนี้เฉลี่ย 53,904 บาทต่อคน ส่งให้กับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ติดต่อนำลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายมาเข้าสู่กลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ พิจารณาช่วยเหลือด้านสินเชื่อ และดูแลฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ ซึ่งเป็นการใช้กลไกการทำงานของจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ณ สาขาธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ร่วมกับการทำงานของคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดสุพรรณบุรี และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดสุพรรณบุรี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 กระทรวงการคลังได้จัดการอบรมและกิจกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการช่วยเหลือด้านสินเชื่อตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้น ให้ได้รับการต่อยอดการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร ในด้านการเสริมสร้างวินัยทางการเงินและการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม ณ ห้องเลิศธานีคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเลิศธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยในช่วงเช้ามีกิจกรรม ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบและแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. บริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายเกี่ยวกับหนี้นอกระบบของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุพรรณบุรี บริการข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และการเสวนาถอดบทเรียนความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงกิจกรรมสาธิตอาชีพ 6 อาชีพ
ในช่วงบ่าย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบาย เรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อย” โดยกล่าวว่า รัฐบาลได้มุ่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับและทุกสาขาอาชีพ ประกอบกับเล็งเห็นว่าปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาสำคัญที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นวาระแห่งชาติ และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานภาคีที่จะขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ โดยกำหนดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นเป้าหมายที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงรุกอย่างเร่งด่วน พร้อมกับส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน รวมถึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้เป็นภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตต่อไป
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 8 ราย และมอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 677 ราย เป็นวงเงิน 30.03 ล้านบาท โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้บริหารธนาคารออมสิน และผู้บริหาร ธ.ก.ส. ร่วมเป็นสักขีพยาน
นอกจากนี้ ในช่วงสุดท้าย ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมงานยังได้รับฟังการอบรมในหัวข้อ การจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยนางสาวอรจิรา เนตรอารีย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ การตลาด และพัฒนาลูกค้าองค์กรชุมชน ธนาคารออมสิน และหัวข้อ “แนวทางการหารายได้เสริม” โดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมุ่งหวังที่จะให้ผู้ร่วมงานนำความรู้พื้นฐานทางการเงินที่ได้รับดังกล่าวไปฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของตน โดยสร้างรายได้ให้เพียงพอ มีวินัยในการใช้จ่าย มีเงินออม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไป
สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทรศัพท์สายด่วน 1359
--กระทรวงการคลัง--