รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 กันยายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 2, 2017 15:56 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ส.ค. 60 ปี งปม. 60 เบิกจ่ายได้ 165.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ส.ค. 60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 21.7 พันล้านบาท
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ส.ค. 60 ได้จำนวน 219.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ต่อปี
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ส.ค. 60 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค. 60 ขยายตัว ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน ส.ค. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 6 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP เวียดนาม ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราว่างงานของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ส.ค. 60 ปี งปม. 60 เบิกจ่ายได้ 165.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 158.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 126.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 31.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ งบรายจ่ายอื่นของประทรวงกลาโหม 7,907 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 6,690 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2,767 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 สามารถเบิกจ่ายได้ 2,487.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย ร้อยละ 85.1 ของวงเงินงบประมาณ (2,923.0 พันล้านบาท)

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ส.ค. 60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 21.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 24.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุล 46.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ ดุลเงินงบประมาณในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 ขาดดุลจำนวน -591.1 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 2.5 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -588.6 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 462.7 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุล -125.9 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 315.4 พันล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ส.ค. 60 ได้จำนวน 219.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ต่อปี โดยการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลงร้อยละ -2.8 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดลงร้อยละ -5.4 ต่อปี และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงร้อยละ -2.1 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 ต่อปี ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 2,132.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -2.2 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 1.96 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของประมาณการเอกสารงบปม.

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ส.ค. 60 มีมูลค่า 66,857 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยแบ่งเป็นมูลค่าการจัดเก็บภาษีจากการ ใช้จ่ายภายในประเทศ ขยายตัวที่ร้อยละ 16.5 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 สอดคล้องกับการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงในช่วง 8 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี และขยายตัว ร้อยละ 6.8 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -4.4 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยหมวดการผลิตที่ขยายตัว อาทิ การผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องแต่งกาย ฮาร์ดดิสไดร์ฟ และหมวดยางและพลาสติก ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 60 การผลิตขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ส.ค. 60 ขยายตัวที่ ร้อยละ 6.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อเดือน ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 1.8

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 60 มีจำนวน 152,861 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.6 โดยเป็นผลจากยอดจดทะเบียนในเขต กทม. ขยายตัวร้อยละ 4.5 และในเขตภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 9.2 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวที่ ร้อยละ 6.1

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 6 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (ตัวเลขจริง) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนทีขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 119.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 120.4 จุด ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 60 หดตัวร้อยละ -3.4 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.5 จากเดือนก่อนหน้า

Hong Kong: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.4 เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.7 เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Japan: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า ส่วนยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และอัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ปี 60 ที่ขยายตัว ร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ดุลการค้าใน เดือน ก.ย. 60 เกินดุลที่ 400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.9 หดตัวจากเดือนก่อนหน้ายอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 19.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดขายปลีก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ -1.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -1.5 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางกับ Dow Jones (สหรัฐฯ) ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากทิศทางนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 28 ก.ย. 60 ปิดที่ระดับ 1,666.36 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 25-28 ก.ย. 60 ที่ 56,783 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนทั่วไป นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,995.06 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในเกือบทุกช่วงอายุปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-8 bps สอดคล้องกับกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ย. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 22,760.78 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 28 ก.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่อ่อนค่าลงเช่นกัน นอกจากนี้ โดยรวมแล้วเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ยกเว้นเงินยูโรและวอน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.86

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ