การอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทยในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 31 มีนาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 1, 2017 11:57 —กระทรวงการคลัง

ตามที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้นิติบุคคลต่างประเทศยื่นคำขออนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาท รอบพิเศษ ในช่วงวันที่ 6 กันยายน – 6 ตุลาคม 2560 และตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ นั้น กระทรวงการคลังขอเรียนว่าการพิจารณาอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทยในแต่ละครั้ง กระทรวงการคลังได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนไทย โอกาสที่นักลงทุนในประเทศสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม การส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย และผลกระทบต่อตลาดการเงินของไทย ซึ่งในรอบการพิจารณาอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย รอบพิเศษ ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 – 31 มีนาคม 2561 กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศ จำนวน 1 ราย ได้แก่ Deutsche Bank AG (DB) ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทยได้ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยมีเงื่อนไขให้ใช้เงินที่ได้รับจากการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทดังกล่าว ในการทำธุรกรรมซื้อ USD/THB (Spot USD) และนำเงินออกจากประเทศไทยทั้งจำนวน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอสงวนสิทธิ์ในการระงับการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ในกรณีที่สถานภาพ สถานะการเงิน หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้องของผู้ได้รับอนุญาตมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างมีนัยสำคัญ หรือเมื่อผู้ได้รับอนุญาตมีการดำเนินการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต

กระทรวงการคลังขอขอบคุณผู้ยื่นคำขออนุญาตทุกรายที่ให้ความสนใจในการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย สำหรับผู้มีความประสงค์จะขออนุญาตในรอบถัดไปสามารถยื่นหนังสือแสดงความจำนงได้ปีละ 3 ครั้ง ในเดือนมีนาคม กรกฎาคม และพฤศจิกายน ของทุกปี

สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 0 2271 7999 ต่อ 5809

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ