รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 20 ตุลาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 6, 2017 15:31 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ย. 60 มีจำนวน 2.56 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 5.7
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.9
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 86.7
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย. 60 มีจำนวน 2,474 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.9
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 60 มี จำนวน 48,118 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 26.6
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 60 ขยายตัว ร้อยละ 7.0 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -6.1
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย. 60 มีมูลค่า 21,812.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.2 ขณะที่มูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 18,454.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.7
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 60 ขยายตัว ร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกของสหภาพยุโรป เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ย. 60 มีจำนวน 2.56 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจาก จีน เกาหลี กัมพูชา และอินเดีย เป็นหลัก ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 8.78 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปีและขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล เป็นผลทำให้ช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 26.10 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 1.33 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ไตรมาส 3 ของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และขยายตัว ร้อยละ 0.5 ต่อไตรมาส หลังขจัดผลทางฤดูกาล

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.0 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้รับปัจจัยบวกทั้งจากความเชื่อมั่นในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 102.9 จาก 101.9 ในเดือน ส.ค. 60 ตามทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย. 60 มีจำนวน 29,474 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 9 เดือนตั้งแต่ต้นปี เป็นผลมาจากความนิยมอย่างต่อเนื่องของรถยนต์รุ่นใหม่ที่ได้แนะนำสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 60 มีจำนวน 48,118 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 26.6 ต่อปี และขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 23.8 ต่อปี และคิดเป็นขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ไตรมาส 3 ของปี 60 การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.3 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ทั้งนี้ เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก ดัชนีฯ ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรพบว่า ผลผลิตทั้ง 3 หมวดขยายตัวได้ดี ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ 7.5) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ 5.2) หมวดประมง (ร้อยละ 9.4) โดยในหมวดพืชผลสำคัญ ผลผลิตที่ขยายตัวดี อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา และมันสำปะหลัง สำหรับในไตรมาสที่ 3 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และทำให้เฉลี่ย 3 ไตรมาสแรกของปี ดัชนีฯ ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 60 หดตัวร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยเป็นการหดตัวของราคาในทุกหมวดผลผลิต ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ -6.2) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ -6.2) และหมวดประมง (ร้อยละ -3.7) ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวโพดที่ราคาลดลงตามการใช้ข้าวสาลีเพื่อทดแทนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และราคาปาล์มน้ำมันที่มีอุปสงค์ต่ำตามปริมาณสต๊อกที่สูงของประเทศ ผู้นำเข้าสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ -12.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และทำให้เฉลี่ย 3 ไตรมาสแรกของปี ดัชนีฯ หดตัว ร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย. 60 มีมูลค่า 21,812.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากการขยายตัวดีเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 12.5 ตามการขยายตัวดีของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์เป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวในระดับสูงเช่นกันที่ร้อยละ 44.8 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -0.6 และ -0.2 ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 60 มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 9.3

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.ย. 60 มีมูลค่า 18,454.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 จากการขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวร้อยละ 13.0 รวมถึงหมวดสินค้าทุนที่ขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 11.9 ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงกลับมาหดตัวครั้งแรกที่ร้อยละ -0.2 หลังจากขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง 11 เดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 60 มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 14.3 และส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 14.8 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 60 เกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในเดือน ก.ย. 60 สินค้าในหมวดอุปโภคบริโภคในร้านขายสินค้าทั่วไปขยายตัวสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับหมวดหลักอื่น ๆ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในเดือน ก.ย. อัตราเงินเฟ้อในหมวดการคม-นาคเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

China: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และ GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Japan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การส่งออก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 14.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า การนำเข้า เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 6.7 แสนล้านเยน

Eurozone: improving economic trend

ด้านการส่งออก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน ส.ค. 60 ที่ 1.6 หมื่นล้านยูโรอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

UK: improving economic trend

อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.33 ต่อกำลังแรงงานรวม

Indonesia: mixed signal

ด้านการส่งออก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน ก.ย. 60 ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 60 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ4.25ต่อปี

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ3.5ต่อกำลังแรงงานรวม

Singapore: worsening economic trend

ด้านการส่งออก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่ การนำเข้า เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน ก.ย. 60 ที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

South Korea: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

Australia: worsening economic trend

ยอดขายรถใหม่ เดือน ก.ย. 60 หดตัวลงร้อยละ 2.4 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. ปี 60 อยู่ที่ระดับร้อยละ 5.47 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.07 ของวัยแรงงานรวม

Hong Kong: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นและปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนี ดัชนี MSCI AC Asia Pacific Index ที่ปรับตัวลดลง ดัชนี SET ณ วันที่ 19 ต.ค. 60 ปิดที่ระดับ 1,683.43 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 16-19 ต.ค. 60 ที่ 67,192 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,922 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะปานกลางและระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น 1-7 bps ในสัปดาห์นี้ สอดคล้องกับกระแสเงินทุนไหลออกของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,135 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 0.06 โดย ณ วันที่ 19 ต.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 33.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ยกเว้นเงินวอนที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.10

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ