ร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 28, 2007 08:53 —กระทรวงการคลัง

          นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่  27  พฤศจิกายน  2550 ว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .  ซึ่งเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การมหาชน    พ.ศ. 2542 ใน 9 ประเด็น ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ  และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจต่อไป  และเห็นชอบให้คงสังกัดสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ  และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี  
ร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .
เพื่อให้การแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การมหาชนครอบคลุมประเด็นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 และร่างของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีสาระสอดคล้องกับความเห็นของคณะรัฐมนตรี จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติองค์การมหาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . ขึ้นใหม่ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยได้รวมประเด็น การแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี 4 ประเด็น และของสมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เสนอแก้ไข 5 ประเด็น รวมทั้งหมดเป็น 9 ประเด็น ดังนี้
1. กำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรับผิดชอบในการเสนอแนะนโยบาย มาตรการ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง การบริหารงาน การพัฒนา รวมทั้งการยุบเลิกองค์การมหาชนต่อคณะรัฐมนตรี
2. กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการของแต่ละองค์การมหาชน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นข้าราชการมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสามของกรรมการทั้งหมด
3. กำหนดห้ามมิให้กรรมการขององค์การมหาชนเป็นกรรมการในองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจในเวลาเดียวกันเกินกว่าสามแห่ง โดยนับรวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งกรรมการด้วย แต่ไม่รวมการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่ได้มีการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติราชการแทน
4. กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
5. กำหนดให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งผู้อำนวยการขององค์การมหาชนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ตำแหน่งผู้อำนวยการขององค์การมหาชนว่างลง และหากมีเหตุผลจำเป็นให้ขยายได้ไม่เกินเก้าสิบวัน
6. แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้อำนวยการใหม่
7. แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเจ้าหน้าที่และลูกจ้างขององค์การมหาชน
8. กำหนดระบบการประเมินผลขององค์การมหาชน
9. กำหนดให้องค์การมหาชนดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับองค์การมหาชนนั้นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ