ร่างพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงตามมาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 13, 2017 11:17 —กระทรวงการคลัง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงตามมาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงิน

ตามหลักการของศาสนาอิสลาม เนื่องจากหลักการของศาสนาอิสลาม (หลักชาริอะฮ์) มิให้มีการจ่ายหรือรับดอกเบี้ย แต่ใช้การแบ่งปันผลกำไรหรือขาดทุนจากผลตอบแทนจากการค้าและการลงทุน และการรับความเสี่ยงร่วมกันระหว่างลูกค้ากับธนาคาร อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์เงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามมีลักษณะทำนองเดียวกับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ ผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามจึงควรได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับผลตอบแทนจากการฝากเงินกับสถาบันการเงินอื่น ดังนี้

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมแล้วไม่เกิน 600,000 บาท

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนจากการฝากเงินทำนองเดียวกับเงินฝากออมทรัพย์ เฉพาะกรณีได้รับผลตอบแทนรวมไม่เกิน 20,000 บาท

3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนจากการฝากเงินทำนองเดียวกับเงินฝากประจำที่มีระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป แต่รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาทและได้รับผลตอบแทนเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระหว่างผลตอบแทนจากการฝากเงินทั่วไปกับการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามมีความเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการออมของประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากการรับฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการให้บริการทางการเงิน

ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) กรมสรรพากร

โทร. 1161

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ