การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนและการสัมมนา เรื่อง การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ณ จังหวัดภูเก็ต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 21, 2017 08:06 —กระทรวงการคลัง

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนและการสัมมนา เรื่อง การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ณ จังหวัดภูเก็ต

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2560 เวลา 9.00 น. ณ โรงแรมภูเก็ต รอยัล ชิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (นายนรภัทร ปลอดทอง) รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว) พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (นางสาวกุลยา ตันติเตมิท และนางสาวบัณฑรโฉม แก้วสอาด) ที่ปรึกษาการคลัง กระทรวงการคลัง (นางศิริพร เหลืองนวล) รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง (นางภัทรพร วรทรัพย์) ผู้แทนธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดภูเก็ต คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนผู้แทนตำรวจภูธรภาค 8 และกองทัพภาค 4 ทั้งนี้ ในการประชุม ปลัดกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำและขอความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการให้ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่

1. ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ดำเนินการติดตามจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เจ้าหนี้นอกระบบปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบต่อไป

2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ขอให้เร่งรัดประชาสัมพันธ์แหล่งสินเชื่อในระบบที่สำคัญ ได้แก่ (1) สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) โดยนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง สามารถให้สินเชื่อกับประชาชนในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective Rate) และ (2) สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ซึ่งออกแบบสำหรับช่วยเหลือประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน ในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท โดยสินเชื่อดังกล่าวเป็นสินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนที่สามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้

3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ขอให้สร้างการรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับกลไกที่คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด ซึ่งมีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อลดมูลหนี้ที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขที่เอารัดเอาเปรียบ โดยยึดหลักของความเป็นธรรมในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งฝ่ายลูกหนี้และเจ้าหนี้พึงพอใจ

4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ขอความร่วมมือให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้านการเพิ่มรายได้ของตัวเอง การให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงการพิจารณาการให้สวัสดิการแก่ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบที่อาจไม่มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองได้

5. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และเผยแพร่ความรู้และทักษะทางการเงินแก่ประชาชนในการประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนสำหรับผู้มีรายได้น้อย (ผู้มีสิทธิ์ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560) ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3,738 ราย มูลหนี้นอกระบบ รวมเป็นเงิน 185.21 ล้านบาท (เฉลี่ย 49,548 บาทต่อราย) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้สั่งการให้หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนการทำงานตามกลไกของกระทรวงการคลัง โดยเร่งติดต่อลูกหนี้แต่ละรายเพื่อให้การช่วยเหลือไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ พิจารณาช่วยเหลือด้านสินเชื่อ และดูแลฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ซึ่งรวมถึงการพัฒนาอาชีพให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

สำหรับในช่วงบ่าย กระทรวงการคลังได้จัดการสัมมนา ในหัวข้อ “การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ” (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประกอบธุรกิจและขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังให้กับธุรกิจ ห้างร้าน ประชาชนผู้สนใจ และหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งเริ่มให้บริการแก่ประชาชนแล้ว 125 ราย ใน 44 จังหวัด โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการแล้วได้จากเว็บไซต์ www.1359.go.th

สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทรศัพท์สายด่วน 1359

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ