เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกระทรวงการต่างประเทศโอมาน (Political Consultations) ครั้งที่ ๑ ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และ ดร. Mohammed Al Hassan รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศโอมานเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายโอมาน ในการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับโอมาน ในโอกาสการเยือนรัฐโอมานอย่างเป็นทางการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๕๙
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับโอมานนับแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี ๒๕๒๓ ซึ่งประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในระดับต่าง ๆ ทั้งในระดับรัฐบาลและระหว่างประชาชน ตลอดจนมีพลวัตความสัมพันธ์และความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเยือนโอมานอย่างเป็นทางการของรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๕๙ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ติดตามประเด็นที่สืบเนื่องจากการเยือนดังกล่าว และหารือถึงแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน
ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า มีสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพ อาทิ ด้านประมง ด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านพลังงาน ฯลฯ โดยเห็นควรที่จะส่งเสริมการติดต่อระหว่างภาคเอกชนของสองฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันให้มีผลเป็นรูปธรรม ตลอดจนขยายโอกาสความร่วมมือด้านการค้าเพื่อทดแทนมูลค่าการค้าน้ำมันที่ลดลง ซึ่งโอมานเห็นว่า ไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนสำหรับโอมาน ในโอกาสนี้ โอมานเชิญชวนให้ภาคเอกชนไทยไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่โอมานจัดตั้งขึ้น และมีสิทธิประโยชน์พิเศษแก่นักลงทุน ซึ่งขณะนี้ มีธุรกิจอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีที่น่าเป็นที่สนใจสำหรับฝ่ายไทย และเห็นว่า โอมานสามารถเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคอ่าวอาหรับและแอฟริกาตะวันออก ได้อีกช่องทางหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้โอมานพิจารณาเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก
นอกจากนี้ โอมานประสงค์จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยในการสร้างแบรนด์ โดยให้ชุมชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้มีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว ส่งเสริมความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาประมง ซึ่งโอมานให้ความสำคัญและประสงค์จะร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างมากในฐานะที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมประมง ขณะที่โอมานมีทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพในด้านประมง ในขณะที่ฝ่ายไทยประสงค์จะขยายความร่วมมือด้านพลังงาน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและประมงกับฝ่ายโอมาน นอกเหนือจากด้านการค้าและการลงทุน
ในการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงความร่วมมือในกรอบพหุภาคี อาทิ กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue) องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation) และสหประชาชาติ (United Nations) รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการการเมืองและเศรษฐกิจของไทยและโอมาน และพัฒนาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพัฒนาการในภูมิภาคตะวันออกกลาง
--กระทรวงการคลัง--