รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 ธันวาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 5, 2018 15:59 —กระทรวงการคลัง

Fiscal Policy Office

For 25 - 29 Dec 2017

29 December 2017

Executive Summary

Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. 60 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 250.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.4 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ใน เดือน พ.ย. 60 ได้จำนวน 149.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -7.4 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -98.1 พันล้านบาท
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ของสหราชอาณาจักร ขยายตัว ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อพืนฐาน (PCE) ของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 60 มีจำนวน 3.02 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.59 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.8 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากจีน เกาหลี รัสเซีย ลาว กัมพูชา และอินเดีย เป็นหลัก ขณะที่ มาเลเซียหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 60 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 31.85 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปีสร้างรายได้ ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 1.63 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.3 โดยหมวดการผลิตที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัว อาทิ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ โดยเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายในประเทศตามคำสั่งซื้อเพื่อรองรับงาน Motor Expo อย่างไรก็ตาม หมวดการปั่น การทอ หมวดเครื่องประดับหดตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 11 เดือนแรกปี 60 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ย. 60 มีมูลค่า 62,562 ล้านบาท ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยแบ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการนำเข้าที่ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงในช่วง 11 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. 60 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 250.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.4 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 221.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.0 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 202.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.5 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 19.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -12.1 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 71,990 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 21,555 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 20,239 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 สามารถเบิกจ่ายได้ 635.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.9 ของวงเงินงบประมาณ (2,900.0 พันล้านบาท)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. 60 ได้จำนวน 149.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -7.4 ต่อปีแต่สูงกว่าประมาณการ 4.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.9ของประมาณการเอกสารงปม. ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ที่ลดลงมาจากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลงร้อยละ -2.8 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงร้อยละ -1.4 และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดลง ร้อยละ -5.3 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อปี ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 354.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.0 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 5.1 ของประมาณการเอกสารงปม.

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 60 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -98.1 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -62.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -160.6 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 216.2 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -1.5 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ -1.1 ต่อปีและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 14.1 ต่อเดือน ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อพืนฐาน (PCE) เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 17.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.7 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 122.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 128.6 จุด

Vietnam: mixed signal

ด้านการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 16.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 16.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และขาดดุลการค้าใน เดือน ธ.ค. 60 ที่ 500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯGDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 26.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งเร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 7.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล)อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 11.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ายอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Japan: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.60 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.20 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

UK: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Singapore: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 หดตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Hong Kong: mixed signal

ด้านการส่งออก เดือน พ.ย 60 ขยายตัวร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และขาดดุลการค้าใน เดือน พ.ย. 60 ที่ 39,706 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยดัชนี SET ณ วันที่ 28 ธ.ค. 60 ปิดที่ระดับ 1,743.29 สวนทางกับดัชนี MSCI AC Asia Pacific Index ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 25 - 28 ธ.ค. 60 ที่ 51,723.48 ล้านบาทต่อวัน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 ธ.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -629.05 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-5 bps จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในสัปดาห์นี้ มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 91 วันและ 28 วัน ที่มีนักลงทุนสนใจถึง 2.4 เท่า และ 2.15เท่า ของวงเงินประมูล ตามลำดับ ระหว่างวันที่ 25 - 28 ธ.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 5,710.25 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.24 โดย ณ วันที่ 28 ธ.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินเยน ยูโร วอน ดอลลาร์สิงค์โปร์ และหยวน ส่งผลให้โดยรวมแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.21

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ