รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 28, 2017 15:38 —กระทรวงการคลัง

"เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านอุปสงค์ พบว่า การส่งออกสินค้า การบริโภคสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราเร่งและได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง บวกกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น"

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า"เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านอุปสงค์ พบว่า การส่งออกสินค้า การบริโภคสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราเร่งและได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง บวกกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น" โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายร้อยละ 1.6 ต่อปี สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่ต้นปี และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 34.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อเดือน สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันโดยขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.7 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อเดือน นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนพฤศจิกายน 2560 หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 65.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบปี 2560 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อเดือน ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันและถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบปี โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.4 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อเดือน ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 อาเซียน-5 จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้า ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.7 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่มากกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุลจำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.02 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 23.2 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากจีน เกาหลี รัสเซีย ลาว กัมพูชา และอินเดีย เป็นหลัก สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2560 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี จากหมวดประมงและหมวดปศุสัตว์ อย่างไรก็ดี หมวดพืชผลสำคัญยังขยายตัวได้ดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI)ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ระดับ 87.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศจากมาตรการช็อปช่วยชาติ การใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นแรงกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภค การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการภาครัฐ กอปรกับผู้ประกอบการได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.99 และ 0.61 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ระดับร้อยละ 41.7 อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ระดับ 203.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า

รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านอุปสงค์ พบว่า การส่งออกสินค้า การบริโภคสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราเร่งและได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง บวกกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น"

1.เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายร้อยละ 1.6 ต่อปี สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 1 นับตั้งแต่ต้นปี และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 34.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อเดือน โดยเป็นผลมาจากจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันโดยขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.7 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนพฤศจิกายน 2560 หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ระดับ 65.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

2.เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2560 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบปี 2560 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อเดือน ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 14.7 ต่อปี

3.การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนพฤศจิกายน 2560 เบิกจ่ายได้จำนวน 250.2 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 221.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 202.1 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 19.1 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 29.0 พันล้านบาท

4.อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันและถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบปี โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีมูลค่า 21.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.4 ต่อ และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อเดือน ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2560 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 อาเซียน-5 จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีมูลค่า 19.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.7 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่สนับสนุนการขยายตัวของการนำเข้า เช่น วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสินค้าทุน สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้ามากกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2560 เกินดุลจำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5.เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 3.02 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.59 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.8 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน เกาหลี รัสเซีย ลาว กัมพูชา และอินเดีย เป็นหลัก ขณะที่มาเลเซียหดตัวสำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2560 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี จากหมวดประมงและหมวดปศุสัตว์หดตัวร้อยละ -21.5 และ -7.0 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในหมวดพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2560 หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวของราคาในหมวดปศุสัตว์ จากราคาสุกรจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการ และหมวดพืชผลสำคัญจากราคาปาล์มน้ำมัน เนื่องจากภาวะการค้ายังชะลอตัวและสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ราคายางพาราจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นและภาวะการค้าที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง และราคาไข่ไก่จากผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมากส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ระดับ 87.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศจากมาตรการช็อปช่วยชาติ การใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นแรงกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภค การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการภาครัฐ กอปรกับผู้ประกอบการได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่

6.เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.99 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมถึงการปรับเพิ่มราคายาสูบจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรสามิต ขณะที่อัตราเงินเฟ์อพื้นฐานอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.61 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ระดับร้อยละ 41.7 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ระดับ 203.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า

ฉบับที่ 55/2560

วันที่ 28 ธันวาคม 2560

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ