รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 5 - 9 กุมภาพันธ์ 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 12, 2018 14:58 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 67.0 จากระดับ 66.2 ในเดือนก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ของอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 61 ทรงตัวที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงาน
  • มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของสหภาพยุโรป เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนี PMI ภาคก่อสร้างของสหราชอาณาจักร เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด
  • ดัชนี PMI ภาคบริการของญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ม.ค. 61 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 66.2 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 67.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 58 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัว ได้ดีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อในหลายจังหวัดขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังกังวลต่อผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 61 มีจำนวน 167,039 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งในเขต กทม. ร้อยละ 3.6 และในเขตภูมิภาคร้อยละ 3.4 จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 61 เท่ากับ 107.5 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ม.ค. 61 เพิ่มขึ้น 2.0 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดการศึกษาและสุขภาพ การก่อสร้าง และนันทนาการ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน ม.ค. 61 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 62.7 ของประชากรวัยแรงงาน ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 61 ทรงตัวที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงาน ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 911.57 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 59.9 จุด สูงสุดในรอบกว่า 12 ปีครึ่ง โดยที่ดัชนีฯ ในหมวดยอดสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.8 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ขาดดุลการค้า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

China: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการส่งออกไปยังญี่ปุ่นขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 37.1 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.1 ผลจากการนำเข้าถ่านหินในระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 20.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากราคาอาหารและค่าขนส่งที่ชะลอตัวลง

Eurozone: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยยอดขายหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์หดตัวมากที่สุดที่ร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 58.0 จุด สูงสุดในรอบ 10 ปีกว่า เนื่องจากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของภาคธุรกิจ และส่งผลให้ดัชนี PMI รวม เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 58.8 จุด สูงสุดในรอบ 11 ปีกว่า

UK: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคก่อสร้าง เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด เนื่องจากการหดตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 53.0 จุด ต่ำสุดในรอบ 1 ปีกว่า เนื่องจากความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของ Brexit เป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 61 ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

Japan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.1 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ดัชนี PMI รวม เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Indonesia: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยที่การส่งออก การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก ทั้งนี้ GDP ทั้งปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.1 ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 61 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 126.1 จุด โดยที่ดัชนีการซื้อสินค้าคงทนลดลงมากที่สุด

Malaysia: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 50.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.9 จุด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจใหม่และยอดสั่งซื้อสำหรับการส่งออก ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกเครื่องดิ่มและยาสูบที่หดตัวมาก ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 7.3 พันล้านริงกิต

Philippines: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 17.6 ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยที่ราคาสินค้าหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 12.3

Singapore: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (SIPMM) เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นในภาคการผลิตเป็นสำคัญ

Taiwan: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาหมวดที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลง มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและจีนตัวขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 23.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Australia: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ผลจากเกือบทุกหมวดสินค้าหดตัวโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและเชื้อเพลิงขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.6 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 0.7 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ด้าน ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 52.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีย่อยหมวดอัตราค่าจ้างและการจ้างงานเป็นหลัก ขณะที่ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 58.7 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากหมวดเครื่องใช้สอยภายในครัวเรือนและหมวดอาหารขยายตัวชะลอลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์และปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดย ณ วันที่ 8 ก.พ. 61 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,786.66 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 82,740.35 ล้านบาทต่อวัน โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ทั้งนี้ ดัชนี SET เคลื่อนไหวสอดคล้องกับดัชนีหลักทรัพย์อื่นๆ ในเอเชีย อาทิ Nikkei 225 (ญี่ปุ่น) และ Straits Times (สิงคโปร์) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์เช่นกัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด โดยระหว่างวันที่ 5 - 8 ก.พ. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 14,250 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น 2 - 14 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 เดือน - 1 ปีปรับตัวลดลง ทำให้เกิดการหักงอ (Kink) ในระยะดังกล่าว โดยผลการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี มีผู้สนใจประมูลเพียง 0.95 และ 1.04 เท่า ของวงเงินประมูลตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 5 - 8 ก.พ. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 17,208 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 8 ก.พ. 61 เงินบาทปิดที่ 31.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.22 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินยูโร ริงกิต วอนและดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่เงินเยนและหยวนแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทอ่อนค่าลงในอัตราที่สูงกว่าเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้นเงินยูโรและดอลลาร์สิงคโปร์ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.64

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ