รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 28, 2018 15:03 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 34 เดือน การลงทุนภาคเอกชนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผลผลิตการเกษตรที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 34 เดือน การลงทุนภาคเอกชนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผลผลิตการเกษตรที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน” โดยมีรายละเอียดสรุป ได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2561 ขยายต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวได้ดีจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 27.3 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน โดยเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาค สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ระดับ 67.0 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้างที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน เป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนมกราคม 2561 กลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.1 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูง และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อเดือน โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรกรรม และเคมีภัฑณ์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 ญี่ปุ่น อาเซียน-5 อินเดีย อินโดจีน (CLMV) จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 24.3 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุน สินค้าแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2561 ขาดดุลจำนวน -0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ลาว อินเดีย และยุโรปตะวันออก เป็นหลัก สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ที่ขยายตัวได้ดี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 91.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคภายในประเทศ ที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 และการใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ระดับ 214.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 34 เดือน การลงทุนภาคเอกชนยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผลผลิตการเกษตรที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2561 ขยายต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวได้ดีจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 27.3 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน โดยเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวในเขตกรุงเทพฯ ร้อยละ 3.6 ต่อปี และในเขตภูมิภาคขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนมกราคม 2561 หดตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ระดับ 67.0 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออก และการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้างที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี โดยมีปัจจัยหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนมกราคม 2561 กลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อเดือน สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 8.1 ต่อปี

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนมกราคม 2561 เบิกจ่ายได้จำนวน 244.6 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 226.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 200.4 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 26.5 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 17.7 พันล้านบาท

4. อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่า 20.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 17.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อเดือน โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรกรรม และเคมีภัฑณ์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 ญี่ปุ่น อาเซียน-5 อินเดีย อินโดจีน (CLMV) จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่า 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 24.3 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุน สินค้าแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2561 ขาดดุลจำนวน -0.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยในเดือนมกราคม 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 3.54 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ลาว อินเดีย และยุโรปตะวันออก เป็นหลัก ส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.89 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.6 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 2.4 และ 17.4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2561 หดตัวร้อยละ -14.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวของราคาในหมวดพืชผลสำคัญ จากราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน และราคากลุ่มไม้ผล หมวดปศุสัตว์ จากราคาสุกร และราคาไข่ไก่จากผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก และหมวดประมง จากราคากุ้งขาวแวนนาไม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ระดับ 91.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคภายในประเทศ ที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 และการใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทในการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ มีระดับทรงตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 41.2 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ระดับ 214.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

ฉบับที่ 9/2561

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ