กฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 9, 2018 08:53 —กระทรวงการคลัง

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดให้บุคคลอื่นนอกจากที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน พ.ศ. 2559 สามารถเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 กำหนดให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ

(1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเฉพาะกรณีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

(2) ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเฉพาะกรณีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน

(3) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง

(4) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ

          ในปัจจุบัน นิติบุคคลดังกล่าวมีการดำเนินการเกี่ยวกับการให้สินเชื่อในระบบ โดยกองทุนพัฒนา เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐได้รับจัดสรรเงินทุนจากรัฐบาลจำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อและร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศยังมีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินของไทยแก่โครงการใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากอันเกินกว่าศักยภาพสถาบันการเงินของไทยจะเป็นผู้ให้สินเชื่อเพียงรายเดียว ส่วนในกรณีของผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง มีการให้สินเชื่อในแต่ละไตรมาสกว่า 500 ล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้างในแต่ละปีกว่า 5,000 ล้านบาท และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ปัจจุบันก็มีการประกอบธุรกิจแล้วกว่า 250 ราย         ใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นต้น

กระทรวงการคลังจึงออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมให้นิติบุคคลข้างต้นเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจอย่างกว้างขวาง และเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับใช้ในการประกอบธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นด้วย อันจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

กล่าวโดยสรุป จากการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันมีผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจทั้งหมด 13 ประเภท ได้แก่

(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตและบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

(3) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(4) นิติบุคคลเฉพาะกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(5) ทรัสตีในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(6) บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(7) นิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(8) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์

(9) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง

(10) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเฉพาะกรณีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

(11) ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเฉพาะกรณีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน

(12) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง

(13) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ

ในปัจจุบัน มีผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้วกว่า 200,000 คำขอ รวมแล้วเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3266 และ 3269

โทรสาร 0 2618 3371

ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ