Executive Summary
- การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. 61 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 166.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ต่อปี
- รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 61 ได้จำนวน 169.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ต่อปี
- ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -10.6 พันล้านบาท
- มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 89.9
- ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัว ร้อยละ 10.3 ต่อปี
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัว ร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 ของสหราชอาณาจักร อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. 61 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 166.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 147.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 119.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 28.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.1 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 8,107 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง 7,918 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวงชนบท 5,389 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2,938 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,271.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 43.9 ของวงเงินงบประมาณ (2,900.0 พันล้านบาท)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 61 ได้จำนวน 169.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ต่อปี ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลง ร้อยละ -2.4 ต่อปี ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 908.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5ของประมาณการเอกสารงปม.
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -10.6 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -12.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -23.0 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 189.3 พันล้านบาท
มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 61 มีมูลค่า 20,365.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวชะลอลงแต่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัว ที่ร้อยละ -2.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยเมื่อพิจารณาตามกลุ่มสินค้าพบว่าขยายตัวต่อเนื่องทุกหมวดสินค้า ดังนี้ สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.5 โดยมีสินค้าสำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์ และเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นสำคัญ ส่วนสินค้าหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวชะลอลง แต่ยังคงเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.พ. 61 มีมูลค่า 19,557.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.3 หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากการขยายตัวทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบ เชื้อเพลิง ทองคำ และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัวในเดือนดังกล่าวที่ร้อยละ 21.9 21.0 75.4 และ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.พ. 61 เกินดุลที่มูลค่า 0.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.0 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงมีปัจจัยจากยอดคำสั่งซื้อโดยรวมมยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์มีวันทำงานที่น้อยกว่าปกติ รวมทั้งมีวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.1 ในเดือน ม.ค. 61
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -1.6 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ 2 เดือนแรกของปี 61 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 16.6 ต่อปี
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 61 มีมูลค่า 63,353 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยแบ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.1 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัว ร้อยละ 12.0 ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงในช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 ขยายตัวได้ร้อยละ 7.0 ต่อปี
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 61 มีจำนวน 29,617 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2560 ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ร้อยละ 18.0 ต่อปี
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 61 มีจำนวน 45,849 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล
นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 61 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีจำนวน 3.57 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยฐานเหลื่อมเดือนจากปีก่อน ที่ช่วงเทศกาลตรุษจีนอยู่ใน ม.ค. 60 เลื่อนมาเป็น ก.พ 61 ส่งผลทำให้มี รายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.95 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.8 ต่อปี ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมขยายตัวได้ดีโดยมาจาก จีน รัสเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย และอินเดีย เป็นหลัก อย่างไรก็ดี กลุ่มตะวันออกกลางหดตัว โดยมาจาก ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เป็นหลัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากเริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรกในอัตราร้อยละ 5 พร้อมขึ้นราคาน้ำมันร้อยละ 127 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 ทำให้มีผลต่อจิตวิทยาการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว
Global Economic Indicators: This Week
ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 61 หดตัวร้อยละ -7.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 จากยอดสร้างคอนโดมิเนียมที่หดตัวสูง สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 61 ที่หดตัวร้อยละ -5.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว โดยที่ยอดฯ คอนโดมิเนียมหดตัวสูง ขณะที่ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 5.5 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า ผลจากยอดขายบ้านเดี่ยวที่ขยายตัว สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 241,700 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากราคาบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 20-21 มี.ค. 61 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติ 9-0 เป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50-1.75 ต่อปี
มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.3 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 2.0 หมื่นล้านยูโร ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 61 (เบืองต้น) อยู่ที่ระดับ 0.1 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าและอยู่ในแดนบวกเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เดือน มี.ค. 61 (เบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 56.6 และ 55.0 จุด ตามลำดับ จากดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตที่ชะลอลง ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน มี.ค. 61 (เบืองต้น) อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 55.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.1 จุด
มูลค่าส่งออกเดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12.3 เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงหดตัวลงร้อยละ -9.7 และ -15.4 ผลจากเทษกาลตรุษจีนที่มีวันหยุดยาว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 16.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ทำให้เกินดุลการค้า 3.4 พันล้านเยน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 61 (เบืองต้น) อยู่ที่ระดับ 53.2 จุด ลดลงจากระดับ 54.1 จุดในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากยอดสั่งซื้อและการจ้างงานขยายตัวชะลอลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 โดยราคาหมวดขนส่งและโทรคมนาคมปรับตัวสูงขึ้น
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 61 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเดือนที่ 6
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เป็นผลจากราคาสินค้าทั้งประเภทอาหารและไม่ใช่อาหารที่ปรับลดลง
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.0 เป็นผลจากราคาหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 61 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปีเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็นเวลากว่า 2 ปี
มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.4 ชะลอลงจากร้อยละ 26.1 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 61 ขาดดุล 11.9 พันล้านรูปี
อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยราคาอาหารขยายตัวถึงร้อยละ 3.9
อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ต่อกำลังแรงงานรวม
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการลดลงของราคาหมวดขนส่ง อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 61 ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี
อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 61 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบียนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.375 ต่อปี
ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบ และปรับลดลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 22 มี.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,798.55 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 19-22 มี.ค. 61 ที่ 51,784 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนให้ความสนใจประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขณะที่ผลการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 20-21 มี.ค. 61 เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ จีงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19-22 มี.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,102.23 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นถึงระยะปานกลางปรับลดลง 1-6 bps แต่ค่อนข้างคงที่สำหรับพันธบัตรระยะยาว โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีผู้สนใจมากถึง 1.26 และ 5.01 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 19-22 มี.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 15,268.11 ล้านบาท
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 22 มี.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.08 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ ยูโร วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ที่อ่อนค่าลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เงินเยนที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาทที่มากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ -0.03
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th