รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 29, 2018 13:54 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในด้านอุปสงค์ขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตการเกษตรที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง”

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในด้านอุปสงค์ขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตการเกษตรที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง” โดยมีรายละเอียดสรุป ได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศและจากฐานการนำเข้า สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันนับตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันโดยขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในเขตภูมิภาค เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 หดตัวร้อยละ -7.6 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 66.1 ลดลงจากเดือนก่อนจากความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลทางการเกษตรและค่าเงินบาทที่แข็งค่า

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.9 ต่อปี โดยมีปัจจัยหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจาก ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 8.3 ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูง และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก คมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ญี่ปุ่น อาเซียน-9 อาเซียน-5 อินโดจีน (CLMV) สหภาพยุโรป อินเดีย และทวีปออสเตรเลีย เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ทองคำ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เกินดุลจำนวน 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีจำนวน 3.57 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยฐานเหลื่อมเดือนจากปีก่อนที่ช่วงเทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือนมกราคม 2560 แต่ในปี 2561 อยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.95 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.8 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจาก จีน รัสเซีย ฮ่องกง มาเลเซีย และอินเดีย เป็นหลัก สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อเดือน เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงที่ขยายตัวได้ดี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 89.9 เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบและค่าจ้างขั้นต่ำที่เตรียมจะปรับขึ้น ในวันที่ 1 เมษายน 2561 รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันทำการที่น้อยกว่าปกติ และเป็นช่วงของเทศกาลตรุษจีน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ ร้อยละ 0.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 คงที่จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.4 ต่อปี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 212.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในด้านอุปสงค์ขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตการเกษตรที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศและจากฐานการนำเข้า สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 และขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี ผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันโดยขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ ร้อยละ -2.5 ต่อปี และในเขตภูมิภาคหดตัวร้อยละ -6.2 ต่อปี เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 หดตัวร้อยละ -7.6 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 66.1 ลดลงจากเดือนก่อนจากความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลทางการเกษตรและค่าเงินบาทที่แข็งค่า

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 8.3 ต่อปี

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เบิกจ่ายได้จำนวน 166.0 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 147.1 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 119.0 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 28.1 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 18.9 พันล้านบาท

4. อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่า 20.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก คมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ญี่ปุ่น อาเซียน-9 อาเซียน-5 อินโดจีน (CLMV) สหภาพยุโรป อินเดีย และ ทวีปออสเตรเลีย เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่า 19.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ทองคำ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เกินดุลจำนวน 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 3.57 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.3 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ลาว และอินเดีย เป็นหลัก ส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.95 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.8 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อเดือน เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 3.5 และ 10.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -13.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวของราคาในหมวดพืชผลสำคัญ จากราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน และราคากลุ่มไม้ผล หมวดปศุสัตว์ จากราคาสุกร และราคาไข่ไก่ และหมวดประมงจากราคากุ้งขาวแวนนาไม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 89.9 เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เตรียมจะปรับขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2561 ประกอบกับการแข่งขันในตลาดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันทำการที่น้อยกว่าปกติ และเป็นนช่วงของเทศกาลตรุษจีน รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้กระทบต่อการกำหนดราคาสินค้า

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เนื่องจากผลผลิตเข้าสู่ตลาดปริมาณมาก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง กอปรกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.4 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ระดับ 212.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

ฉบับที่ 17/2561

วันที่ 29 มีนาคม 2561

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ