รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 20 เมษายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 24, 2018 14:59 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มี.ค.61 ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี
  • การจ้างงานเดือน มี.ค. 61 หดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 61 คิดเป็น 1.80 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 61 ของจีน ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลการค้าของจีน ขาดดุล 4.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของยูโรโซน ในเดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 61 คิดเป็น 1.80 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.0 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 4.1 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

การจ้างงานเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ 37.3 ล้านคน ลดลง 11.8 หมื่นคน หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนการจ้างงานลดลง 6.2 หมื่นคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.7 รวมถึงภาคบริการที่มีจำนวนการจ้างงานลดลงเช่นกัน 5.6 แสนคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.3 อย่างไรก็ตาม การจ้างงานภาคเกษตรมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5.1 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.4 แสนคน

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่งเวลาเดียวกันของปีก่อน

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมี.ค.61 มีจำนวน 3.50 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย ฮ่องกง กัมพูชา และเยอรมัน เป็นหลัก ทั้งนี้ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 61 นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 10.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.4 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 5.73 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.0 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 1 ปี โดยราคาสินค้าในหมวดขนส่งและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ 3.9 และ 3.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านยอดสร้างบ้านใหม่และยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 2.5 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ (ขจัดผลทางฤดูกาล) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว เนื่องจากยอดสร้างและใบอนุญาตฯ คอนโดมิเนียมที่ขยายตัวสูง ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าไม่คงทนที่ขยายตัวต่ำสุด

China: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คงที่จากไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 และ 6.3 ตามลำดับ ขณะที่ภาคบริการขยายตัวดีที่ร้อยละ 7.5 มูลค่าส่งออกเดือน มี.ค. 61 หดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวดีถึงร้อยละ 42.9 จากการหดตัวของการส่งออกไปยังตลาดหลัก อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 14.3 ทำให้ดุลการค้าขาดดุลครังแรกในรอบ 13 เดือนที่ 4.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาหมวดอาหารและขนส่งที่ลดลง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน ม.ค.-มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการชะลอตัวในทุกหมวด ยอดค้าปลีกเดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน

Japan: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 44.4 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 44.0 จุด มูลค่าส่งออก เดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดเครื่องจักรกลและเครื่องจักรไฟฟ้า ด้านมูลค่านำเข้าหดตัวตัวร้อยละ -0.6 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมและเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัว ส่งผลให้เกินดุลการค้า 797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาทุกหมวดสินค้าปรับตัวลดลง

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออกและนำเข้า เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 1.9 หมื่นล้านยูโร ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวโดยยอดขายอะไหล่และส่วนประกอบรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวเร่งขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าเกษตรและน้ำมันหดตัวลง ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าอุตสาหกรรมและภาคเหมืองแร่ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Malaysia อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากราคาทุกหมวดที่ลดลง

Phillipines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 61 หดตัวร้อยละ -9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.2 จากการนำเข้าเครื่องจักรทำให้ขาดดุลการค้าที่ -3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงานเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ต่อกำลังแรงงานรวม

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าส่งออกและนำเข้า เดือน มี.ค. 61 หดตัวร้อยละ -0.8 และ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ และ UK ชะลอลง ส่งผลให้เกินดุลการค้า 5.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Hong Kong: improving economic trend

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 5.28 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 26.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.2 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม สูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

UK: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 1.0 หมื่นล้านปอนด์ อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 19 เม.ย. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,794.94 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 61 ที่ 63,210 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี SET สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย อาทิ HSI (ฮ่องกง) CSI300 (จีน) NI225 (ญี่ปุ่น) และ STI (สิงคโปร์) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ผ่อนคลายลง อาทิ ความเป็นไปได้ของการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และสหรัฐฯ อาจยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมให้กับญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาข้อตกลงการค้ารอบใหม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 2,542.81 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-4 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี มีผู้สนใจเพียง 0.83 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 5,272.60 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 19 เม.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 31.22 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.19 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ริงกิต และวอน ขณะที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้น ส่วนด้านเงินดอลลาร์สิงคโปร์และหยวนทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.14

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ