ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thai Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนเมษายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2018 14:41 —กระทรวงการคลัง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thai Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนเมษายน 2561 “ดัชนี RSI เดือนเมษายน 2561 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจดีขึ้นทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน 2561 ว่า “การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนเกือบทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน เป็นสำคัญ”

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 92.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของการส่งออก อีกทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ประกอบกับภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มสดใส เนื่องจากหลายจังหวัดจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมตลอดปี อีกทั้ง การท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ดัชนีแนวโน้มภาคบริการของภูมิภาคยังปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 89.6 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุนภายในภูมิภาค เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างอาลีบาบาของนายแจ็ก หม่า สนใจที่จะเข้ามาลงทุนสร้างศูนย์สมาร์ท ดิจิทัล ฮับในเขตพื้นที่ EEC โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ได้มีการประกาศแผนการลงทุนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 84.4 เนื่องจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม ตามทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องของการส่งออก ส่งผลให้ยอดคำสั่งเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ นอกจากนี้ ดัชนีแนวโน้มของภาคการลงทุนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามระดับความเชื่อของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งน่าจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อไป ในขณะที่ภาคการผลิตของภาคเหนือ ที่มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม พบว่า มีแนวโน้มการขอตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นในจังหวัดเพชรบูรณ์และโรงงานใหญ่ในจังหวัดลำพูน มีการประกาศแผนปรับเพิ่มการผลิต อีกทั้ง นโยบายภาครัฐด้านการปล่อยสินเชื่อ SMEs ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ รวมถึงดัชนีแนวโน้มภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.9 ตามสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจเหนือ ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 81.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 80.0 จากดัชนีแนวโน้มในภาคบริการ ส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่องอยู่ที่ 89.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่ในหลายจังหวัด เช่น สตูล พัทลุง เป็นต้น อีกทั้ง หลายจังหวัดมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตามการขยายตัวของการส่งออก สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 78.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคบริการ โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยว ที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี อีกทั้งค้าส่งค้าปลีกที่มีแนวโน้มสดใส จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบกับแนวโน้มที่ดีในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากโรงงานในจังหวัดสมุทรสงครามได้รับยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนเพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล อยู่ที่ 77.6 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามดัชนีแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าของภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 84.7 อีกทั้ง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการลงทุน

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254 หรือ 3215

ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ