นายพรชัย ฐีระเวช รองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดให้มีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีประชาชนชาวบุรีรัมย์เข้าร่วมงานจำนวนประมาณ 300 คน ซึ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับทางรัฐบาลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบด้วย
ในการนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงการคลังใน 2 เรื่องควบคู่กันไป ได้แก่ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ หรือมาตรการคนไทยไม่ทิ้งกัน) กล่าวคือ ทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.) และผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของรัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน ได้ปฏิบัติงานสัมภาษณ์ข้อเท็จจริง สอบถามความประสงค์ของการพัฒนา แล้วทำการประเมิน วิเคราะห์ และให้คำแนะนำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมงานเป็นรายบุคคล ซึ่งเมื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองแล้ว ทีม ปรจ. จะดำเนินการประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัดบุรีรัมย์ (คอจ.จังหวัดบุรีรัมย์) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละรายต่อไป ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์มีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องเข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จำนวน 284,734 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ AO ได้เข้าไปประเมินแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว 234,098 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 82 โดยจะดำเนินการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2561
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เมื่อพบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้าร่วมสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงและประเมินผลพัฒนาคุณภาพชีวิตรายใดมีปัญหาหนี้นอกระบบ เจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน จะเข้าสัมภาษณ์และแนะนำเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ การเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารและสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ การฟื้นฟูศักยภาพและการให้ความรู้ทางการเงิน เป็นการเพิ่มเติม รวมถึงจะได้มีการประสานส่งลูกหนี้นอกระบบไปยังคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดเพื่อให้การช่วยเหลือตามแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์มีผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบจำนวน 56,024 คน มีมูลหนี้นอกระบบรวมกันเป็นเงิน 2,909.63 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 51,935.42 บาทต่อคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน อยู่ระหว่างติดตามตัวเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติมอบนโยบาย เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยกล่าวว่า กระทรวงการคลังมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแบบครบวงจรและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถดำรงชีพในระยะยาว เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากความยากจนและมีความสุขได้อย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์อย่างถูกต้องโดยได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในอัตราร้อยละ 36 ต่อปี (แบบลดต้นลดดอก) ควบคู่กับการจัดให้มีสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินเป็นแหล่งเงินทุนทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบ นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยยังได้รับประโยชน์จากการใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าเดินทาง ตลอดจนได้รับโอกาส 4 มิติจากการเข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้แก่ การมีงานทำ การฝึกอาชีพและการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่า เมื่อผู้มีรายได้น้อยได้รับโอกาสการช่วยเหลือต่าง ๆ ดังกล่าวจากภาครัฐแล้ว ขอให้เสริมสร้างวินัยทางการเงินโดยการทำบัญชีครัวเรือน เก็บสะสมเงินออม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปด้วย
อนึ่ง ภายในงานยังมีบูธและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาทางการเงิน การให้คำปรึกษาทางกฎหมายสำหรับลูกหนี้นอกระบบ การสาธิตโมเดลอาชีพ 8 อาชีพ การรณรงค์ส่งเสริมการออม การประชาสัมพันธ์ประโยชน์ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับจากโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของรัฐบาล เป็นต้น เพื่อเสริมให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้และประโยชน์อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการมอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินแก่ผู้มีรายได้น้อยจาก ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน และการมอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงจำนวน 6 ราย อนึ่ง ปัจจุบันในจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 6 ราย โดยได้ปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนเพื่อทดแทนการกู้ยืมเงินนอกระบบแล้ว 676 ราย คิดเป็นวงเงิน 21.62 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 32,000 บาทต่อราย
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทรศัพท์สายด่วน 1359
ที่มา: กระทรวงการคลัง