นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการให้วงเงินชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ดังนี้
1. วงเงินที่ได้รับในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เฉพาะสินค้าที่มีจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถนำไปชำระค่าสินค้าอื่น ๆ ได้ เช่น ก๋วยเตี๋ยว เผือกทอด กล้วยฉาบ เป็นต้น
2. ร้านธงฟ้าประชารัฐมีจำนวนน้อย ทำให้ประชาชนไม่สะดวกต่อการเดินทาง
3. ร้านค้าที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐได้รับผลกระทบ เนื่องจากประชาชนไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐแทน
4. สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐส่วนใหญ่เป็นสินค้าของผู้ผลิตขนาดใหญ่ ดังนั้น การที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถซื้อสินค้าได้เฉพาะในร้านธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น เท่ากับเป็นการอุดหนุนซื้อสินค้าจากผู้ผลิตขนาดใหญ่
5. มีสินค้าโอทอป (OTOP) จำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐจำนวนไม่มาก จึงไม่เป็นการสนับสนุนสินค้าชุมชน
6. ผลประกอบการของร้านธงฟ้าประชารัฐไม่มีกำไร เนื่องจากจำหน่ายสินค้าได้น้อย และมีต้นทุน ด้านบุคลากรและการดำเนินงาน
7. การชำระค่าสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีการคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.5 - 3
8. การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีแนวโน้มว่ามีการทุจริต
กระทรวงการคลังขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ของการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ร้านค้าหรือหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังช่วยให้ภาครัฐสามารถติดตามและประเมินผลการให้สวัสดิการที่ให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำไปใช้จ่าย เพื่อชำระค่าสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่ประชาชนอุปโภคบริโภคอยู่แล้ว เช่น ข้าวสาร เครื่องปรุงรส เป็นต้น ในวงเงินเดือนละไม่เกิน 300 บาท ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนจะมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเหล่านี้ในจำนวนที่สูงกว่าวงเงินข้างต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของครัวเรือน จึงเท่ากับว่าการให้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300 บาท ทำให้ประชาชนมีเงินคงเหลือเพิ่มขึ้น 300 บาท เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าอื่นๆ ได้ตามที่ต้องการ รวมถึงก๋วยเตี๋ยว เผือกทอด เป็นต้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในการชำระค่าสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันด้วยเงินสดเป็นหลัก ไปสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และลดปริมาณเอกสารทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
2. กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการติดตั้งเครื่อง EDC ณ ร้านธงฟ้าประชารัฐแล้วจำนวน 18,806 ร้านค้า และพร้อมจะติดตั้งเครื่อง EDC ให้อีก 20,000 ร้านค้าทั่วประเทศภายในเดือนพฤษภาคม 2561 ประกอบด้วยร้านธงฟ้าประชารัฐ 10,000 เครื่อง และร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (ร้านค้าชุมชน) 10,000 เครื่อง โดยได้ติดตั้งเครื่อง EDC ในร้านธงฟ้าประชารัฐระหว่างวันที่ 8 - 12 พฤษภาคม 2561 ไปแล้วจำนวน 9,051 ร้านค้า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมบัญชีกลางและกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกที่ตั้งร้านธงฟ้าประชารัฐเพื่อติดตั้งเครื่อง EDC ให้มีความครอบคลุมพื้นที่และสอดคล้องกับจำนวนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
3. ร้านค้าชุมชนอื่น ๆ ที่มองว่าอาจได้รับผลกระทบจากการถูกแย่งลูกค้าของร้านธงฟ้าประชารัฐนั้น หากร้านค้าชุมชนนั้น ๆ มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐก็สามารถทำได้ และการเข้าร่วมโครงการยังอาจได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนด้วย แต่หากไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ร้านค้าชุมชนอาจปรับเปลี่ยนไปจำหน่ายสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่ยังเป็นที่ต้องการของชุมชน เพื่อสามารถแข่งขันกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐได้
4. - 5. ร้านธงฟ้าประชารัฐมีความหลากหลายของสินค้า ทั้งด้านยี่ห้อ คุณภาพ และราคา ซึ่งสินค้าที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ปกติมีการซื้อในร้านค้าทั่วไปอยู่แล้วแม้ไม่มีโครงการนี้ ขณะเดียวกันร้านธงฟ้าประชารัฐยังมีสินค้าชุมชนวางจำหน่ายด้วย รวมทั้งปัจจุบันมีร้านค้าชุมชนที่ได้รับการติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยแล้ว ทั้งนี้ ร้านธงฟ้าประชารัฐแต่ละร้านจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะนำสินค้าใดมาจำหน่ายในร้านค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในชุมชนนั้น
6. ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรับชำระค่าสินค้า ดังนั้น จึงมิได้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ร้านค้า ในทางตรงกันข้ามร้านค้ายังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับชำระค่าสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกเหนือจากการรับชำระค่าสินค้าด้วยเงินสดตามปกติ
7. การเข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐนั้น ร้านค้าต้องไม่จำหน่ายสินค้าในราคาที่เกินกว่าราคาขายปลีกที่กำหนดไว้ ในกรณีที่ร้านค้าได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้านค้าต้องแสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ. 20) ณ สถานประกอบการในที่เปิดเผย ซึ่งเห็นได้ง่าย และหากร้านค้ายังไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในราคาสินค้า ร้านค้าสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติมจากราคาสินค้าที่ยังมิได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในอัตราร้อยละ 7 โดยต้องจำหน่ายสินค้าในราคาเดียวกันแก่ผู้ซื้อทุกราย (ซึ่งในประเด็นนี้กระทรวงการคลังได้มีการชี้แจงในรายละเอียดแล้ว ปรากฏตามเอกสารแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 75/2561 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561)
8. สำหรับประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรมบัญชีกลางได้มีการตรวจสอบแล้วไม่พบมีการทุจริต
รองโฆษกกระทรวงการคลัง เน้นย้ำว่า “การดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยดำเนินการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ คือ การมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด นอกจากนี้ยังมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นการให้วงเงินใช้จ่ายในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถึงมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยตรง” และในส่วนของร้านธงฟ้าประชารัฐนั้น จุดประสงค์ของการจัดตั้งโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐก็เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้า และลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ดี หากพบเห็นร้านธงฟ้าประชารัฐฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบประชาชน ขอให้แจ้งเบาะแสชื่อร้านค้าและที่ตั้งร้านค้า ได้ที่กรมสรรพากร สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3509
ที่มา: กระทรวงการคลัง