รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 5, 2018 13:48 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 41.0 ของ GDP
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนเม.ย. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.5
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 61 เท่ากับ 107.3 ขยายตัว ร้อยละ 3.8 ต่อปี
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน เม.ย. 61 เกินดุล 1,363.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 61 ของสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ประมาณการครั้งที่ 2)
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 61 ของอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน เม.ย. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,486.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.0 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 32.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน คิดเป็นร้อยละ 97.3 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 95.9 ของยอดหนี้สาธารณะ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนเม.ย. 61 พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากกำจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวของ MPI เป็นการขยายตัว 12 เดือนติดต่อกัน โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการขยายตัวของ MPI ในเดือน เม.ย ได้แก่ หมวดอาหาร จากผลผลิตน้ำตาลทรายที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย หมวดฮาร์ดิสไดร์ฟ และหมวดยานยนต์ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งการบริโภคในประเทศและภาคการส่งออกนอกจากนี้ อัตรากำลังการผลิตเดือน เม.ย อยู่ที่ร้อยละ 61.6 ชะลอตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากในเดือนมีนาคมมีการเร่งการผลิตก่อนช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี โดยชนิดเหล็กที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กเหล็กเส้นกลม และเหล็กลวด และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อเดือน ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวร้อยละ 1.8

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีก ราคาก๊าซรถยนต์ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาเนื้อสัตว์ และราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปา และแสงสว่าง ยังปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อปปรับเพิ่มสูงขึ้นมากสุดในรอบ 13 เดือน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานในช่วง 5 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และ 0.7 ตามลำดับ โดยคาดว่าในช่วงต่อไป อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีอัตราเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 1.4

Economic Indicators: This Week

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 61 เท่ากับ 107.3 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ที่สูงขึ้นร้อยละ 4.5 ดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 13.0 ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 61ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 61 มียอดคงค้าง 17.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัว เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าทั้งสินเชื่อเพื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.0 และ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 61 มียอดคงค้าง 19.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.0 และ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน เม.ย. 61 เกินดุล 1,363.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 5,751.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากทั้งดุลการค้า (ตามระบบ BOP) และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยดุลการค้าเกินดุลเพียง 234.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงเนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลที่ 1,129.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเนื่องจากเป็นช่วงที่เข้าสู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้รายรับจากภาคการท่องเที่ยวชะลอลง ประกอบกับเป็นช่วงการจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 61 เกินดุล 18,482.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ประมาณการครังที่ 2) ลดลงจากการประมาณการครั้งที่ 1 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากยอดสั่งซื้อในหมวดเครื่องมือด้านการขนส่งและหมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 128.0 จุด สูงสุดในรอบ 3 เดือน

Japan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 61 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ของกำลังแรงงานรวม ด้านยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายหมวดเชื้อเพลิงขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่หมวดเครื่องจักรในครัวเรือนขยายตัวชะลอลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 44.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน จากผลผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง ขณะที่ผลผลิตโลหะที่มิใช่เหล็กและโลหะประดิษฐ์ขยายตัวเร่งขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.8 จุด จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ยอดส่งออกสินค้าใหม่ขยายตัวเร่งขึ้น

China: improving economic trend

ดัชนี PMI (NBS) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.4 โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิตและยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นขณะที่ดัชนี PMI (Caixin) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.1 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิตและยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ขยายตัวเล็กน้อย ในขณะที่หมวดยอดขายสินค้าส่งออกใหม่ปรับตัวลดลง

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 0.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 0.3 จุด แต่ยังอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 8.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยอัตราการว่างงานของเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปนอยู่ที่ร้อยละ 3.4 9.1 11.2 และ 15.9 ของกำลังแรงงานรวม ตามลำดับ

UK: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ -7.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -9.0 จุด และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 1 ปี

South Korea: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 108.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากผลผลิตเครื่องจักรทีใช้ในการก่อสร้าง ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนจากยอดขายอุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ที่หดตัว GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 61 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับตัวเลขเบื้องต้นอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยราคาสินค้าหมวดอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่พักอาศัยชะลอตัวลง มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 กลับมาขยายตัวร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และ EU ที่ขยายตัวดีในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้า 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐดัชนีPMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 48.9 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าแต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 จุดสะท้อนถึงภาคการผลิตที่หดตัว โดยดัชนีย่อยหมวดยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ยังคงหดตัว

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 85.61 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 86.89 จุด ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ปรับตัวลดลงที่ระดับ 53.4 จุด จากระดับ 54.8 จุด โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิตชะลอลง

Hong Kong: mixed signal

มูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการส่งออกอาหารและปศุสัตว์และเชื้อเพลิงที่ขยายตัวสูง ในขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.1 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนทำให้ขาดดุลการค้า 46.9 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดเชื้อเพลิงและสินค้าคงทน

Vietnam: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.3 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นตามราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นมาก ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

India: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 7 ไตรมาสจากการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้น

Australia: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ลดลงมาอยู่ที่ 57.5 จุด จากหมวดผลผลิต ยอดขายสินค้า และสินค้าคงคลังที่ขยายตัวชะลอลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 31 พ.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,726.97 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 28 - 31 พ.ค. 61 ที่สูงถึง 70,744 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับลดลง ทั้งนี้ การปรับตัวของดัชนีฯ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์หลักอื่นๆ เช่น CSI300 (จีน) Nikkei 225 (ญี่ปุ่น) KLCI (มาเลเซีย) เป็นต้น โดยระหว่างวันที่ 28 - 31 พ.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 17,787.12 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-8 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 - 31 พ.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 11,655.86 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 31 พ.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 32.01 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.34 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ อาทิ เยน ริงกิต และดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่เงินยูโร วอน และหยวนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.21

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ