รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 มิถุนายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 25, 2018 14:22 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 26.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 28.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI)เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 90.2
  • ยอดสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด
  • เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางอังกฤษมีมติ 6-3 เสียง ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 61 มีจำนวน 2.76 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ส่วนหนึ่งชะลอตัวเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางเข้าสู่เทศกาลถือศีลอด อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากจีน เป็นหลัก นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย ลาว เป็นต้น ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือน พ.ค. 61 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 136,710 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค. 61 มีมูลค่า 22,257.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 จากเดือนก่อนหน้า ขยายตัวต่อเนื่องเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก สำหรับกลุ่มเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ไก่แปรรูป และเครื่องดื่ม ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกช่วง 5 เดือนแรกปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ค. 61 มีมูลค่า 21,053.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -3.3 จากเดือนก่อน ทั้งนี้ สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าหมวดเชื้อเพลิง ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 5 เดือนแรก ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค. 61 กลับมาเกินดุลที่มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 61 มีจำนวน 33,160 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 26.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวได้ร้อยละ 16.0 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 61 มีจำนวน 51,805 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 28.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ หดตัวร้อยละ -1.4 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาลตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 25.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -1.7 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ใน 5 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.1 ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้จากการสำรวจค่า TISI ทีเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศรวมถึงภาคการส่งออก ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 101.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 102.2 ในเดือนเม.ย.อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (18 มิ.ย.)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ส่งสัญญาณผสม โดยยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.1 จากยอดสร้างบ้านแบบคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 61 ที่หดตัวร้อยละ -4.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยที่บ้านแบบทาวน์โฮมหดตัวสูงสุดที่ร้อยละ -12.2 จากเดือนก่อนหน้า ด้านยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 5.4 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้า จากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -3.4 และ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ราคากลางบ้านมือสอง เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 264,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.7 จากเดือนก่อนหน้า(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ

Japan: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดเคมีภัณฑ์ สินค้าอุตสาหกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น ด้านมูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 14.0 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าในเกือบทุกหมวดสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากราคาหมวดอาหาร การสื่อสารและคมนาคม และอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด จากดัชนีหมวดผลผลิตที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ดัชนีหมวดธุรกิจใหม่ชะลอลง

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าเคมีภัณฑ์เป็นสำคัญ ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 5 เดือน จากการขยายตัวที่เร่งขึ้นมากของการนำเข้าสินค้าในหมวดสินแร่ เชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น ทำให้เกินดุลการค้าในเดือน เม.ย. 61 ที่ 1.7 หมื่นล้านยูโร ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 1 ปีกว่า จากราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ-0.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 0.2 จุด

Taiwan: mixed signal

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.375 ต่อปี ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 เนื่องจากภาพเศรษฐกิจในปี 61 ยังคงจะเติบโตได้ในอัตราที่ไม่ร้อนแรง การปรับขึ้นราคาของสินค้าเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ที่ประชุมธนาคารกลางฯ มีมติใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปและคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 โดยราคาหมวดอาหาร ที่พักอาศัย และเครื่องนุ่งห่มปรับตัวสูงขึ้น

UK: mixed signal

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางอังกฤษมีมติ 6-3 เสียง ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี และมีมติเป็นเอกฉันท์สำหรับการคงปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 4.35 แสนล้านปอนด์

India: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 20.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -5.2 ในเดือนก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 14.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.6 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 61 ขาดดุล 14.6 พันล้านรูปี

Philippines: mixed signal

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากร้อยละ 3.25 เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ของปีนี้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมาย

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.4 โดยราคาหมวดขนส่ง การบริการ และอาหารเร่งตัวขึ้น

Singapore: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้ากลุ่มปิโตรเลียมและสินค้าส่งออกจากภายในประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.6 จากหมวดสินค้าเบ็ดเตล็ดที่หดตัว ส่งผลให้เกินดุลการค้า 5.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 มิ.ย. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,634.44 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 18-21 มิ.ย. 61 ที่ 64,552 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีฯ SET ในสัปดาห์นี้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ อาทิ Dow Jones (สหรัฐฯ) FTSE100 (สหราชอาณาจักร) และ CSI300 (จีน) โดยสาเหตุหลักมาจากความกังวลผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการรอความชัดเจนของผลการประชุมโอเปกในวันที่ 22 มิ.ย. 61 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -12,929.06 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 1-11 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีมีผู้สนใจเพียง 0.54 เท่า ของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 18-21 มิ.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -24,935.33 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 มิ.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 32.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -2.38 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงที่ร้อยละ -1.33

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ