รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 - 15 มิถุนายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2018 14:12 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือนเม.ย. 61 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ผู้มีงานทำเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.6 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีน เดือน พ.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 61 ขยายตัว ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 61 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.0 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ผู้มีงานทำเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 38 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.6 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังจากหักผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.8 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.4 ผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้น 6.3 หมื่นคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 และภาคบริการที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 3.2 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด มีจำนวนผู้ว่างงาน 4 แสนคน ลดลงจำนวน 1 แสนคน จากปี 2560 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 5 แสนคน และเป็นอัตราว่างงานที่ต่ำสุดในปี 2561

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่งเวลาเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาในหมวดคมนาคมขนส่งและหมวดที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 6 เดือน จากยอดค้าปลีกของหมวดรถยนต์ และหมวดที่ไม่รวมรถยนต์ที่ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เมื่อวันที่ 12-13 มิ.ย. 61 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ 8-0 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75-2.00 ต่อปี พร้อมคาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

Japan: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตหมวดโลหะที่มิใช่เหล็กและโลหะประดิษฐ์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 3.2 และเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.10 ต่อปี สำหรับเงินฝากส่วนเกินที่สถาบันการเงินฝากไว้ที่ธนาคารกลาง พร้อมทั้งคงขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ปีละ 50 ล้านล้านเยน

China: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 15 ปีนับตั้งตั้งแต่เดือน มิ.ย. 46 เนื่องจากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มขยายตัวชะลอลง

Eurozone: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าในหมวดพลังงานที่หดตัวมากที่สุด และเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งคงปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่เดือนละ 3 หมื่นล้านยูโรไปจนถึงเดือน ก.ย. 61 และหลังจากนั้นจะลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงเป็นเดือนละ 1.5 หมื่นล้านยูโรจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 61

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนคนที่หางาน Part Time เพิ่มขึ้น

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวมจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8

India: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการผลิตหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเหมืองแร่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 13.0 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Malaysia: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากผลผลิตทั้งในหมวดเหมืองแร่ สินค้าอุตสาหกรรม และไฟฟ้าที่เร่งขึ้น ยอดการค้า เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากยอดขายยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ยอดค้าส่งและค้าปลีกชะลอตัวลงเล็กน้อย ด้านอัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Singapore: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.1 จากยอดขายน้ำมัน สินค้าเวชภัณฑ์ และเฟอร์นิเจอร์ที่เร่งตัวขึ้น อัตราการว่างงาน ในไตรมาสที่ 1 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.8

UK: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 6 เดือน จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 1.1 หมื่นล้านปอนด์ ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยผลผลิตในหมวดแก๊สเชื้อเพลิงและสารประกอบอนินทรีย์และปุ๋ยหดตัวมากที่สุด ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากยอดค้าปลีกแบบไม่มีหน้าร้านที่ขยายตัวสูง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 14 มิ.ย. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,709.86 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 11-14 มิ.ย. 61 ที่ค่อนข้างเบาบางที่ 47,931 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีฯ SET ในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ อาทิ Dow Jones (สหรัฐฯ) Nikkei 225 (ญี่ปุ่น) และ CSI300 (จีน) โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 61 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลต่อทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11 - 14 มิ.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -17,093.95 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลง 2-9 bps ขณะที่พันธบัตรฯ ระยะกลางและระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 1-4 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 11-14 มิ.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,433.99 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 14 มิ.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 32.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.78 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงที่ร้อยละ -0.42

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ