เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กำหนดพื้นที่บริเวณบ้านห้วยกะโหลก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 104 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตสำหรับการศึกษา สำรวจเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งหินน้ำมัน ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ศึกษา สำรวจเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งหินน้ำมัน ในพื้นที่ที่กำหนดดังกล่าวเป็นเวลา 4 ปี นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
กระทรวงพลังงานรายงานว่า
1. นโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศได้กำหนดในแผนระยะยาว เพื่อวางรากฐานการบริหาร จัดการพลังงานแบบยั่งยืนและสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะดำเนินการในเรื่องจัดหาพลังงาน โดยการสนับสนุนส่งเสริม การใช้พลังงานทดแทนและศึกษาวิจัยพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น เช่น เซลล์เชื้อเพลิง หินน้ำมัน และนิวเคลียร์
2. ในปี พ.ศ. 2517 - 2525 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รับมอบหมายให้ทำการสำรวจแหล่งหินน้ำมันบริเวณบ้านห้วยกะโหลก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนสำหรับการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ของทางราชการ ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ผลการสำรวจพบว่าชั้นหินน้ำมันอยู่ในระดับตื้นสามารถทำเหมืองเปิดได้ ซึ่งต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมัน และญี่ปุ่น ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการกลั่นเป็นน้ำมัน การใช้หินน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์ ผลการศึกษาพบว่าหินน้ำมันบริเวณดังกล่าว หากจะทำการพัฒนาต้องใช้เงินลงทุนสูงและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในขณะนั้น จึงได้หยุดการสำรวจ
3. ปี พ.ศ. 2549 กระทรวงพลังงานได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งหินน้ำมันในบริเวณดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผลการศึกษาในชั้นต้นพบว่าแหล่งหินน้ำมันบริเวณพื้นที่บ้านห้วยกะโหลกนี้มีปริมาณสำรองเบื้องต้น 390 ล้านตัน มีศักยภาพที่น่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกได้
4. แผนการศึกษา สำรวจเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนา กรมเชื้อเพลิง ธรรมชาติประชุมหารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแผนการศึกษา สำรวจเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งหินน้ำมัน บ้านห้วยกะโหลก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ดังนี้
4.1 สำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งหินน้ำมันเพื่อยืนยันปริมาณสำรองแหล่งและคุณภาพหินน้ำมัน
4.2 ประเมินผลแหล่งหินน้ำมันขั้นรายละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบการทำเหมืองเบื้องต้น
4.3 ศึกษาทางเลือกในการใช้ประโยชน์หินน้ำมันอย่างคุ้มค่าทาง เศรษฐศาสตร์ เช่น ใช้ในโรงไฟฟ้า โรงกลั่น อุตสาหกรรมเคมี และโรงปูนซีเมนต์
4.4 ศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Evaluation)
4.5 ศึกษาและบริหารจัดการด้านมวลชนสัมพันธ์และการประชาสัมพันธ์
4.6 นำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา กำหนดแนวทางการพัฒนาต่อไป
5. การพิจารณาของกระทรวงพลังงาน
5.1 ควรศึกษาข้อมูลเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและศึกษาวิจัยพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศ
5.2 พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพที่จะทำการพัฒนาขึ้นเป็นพลังงานทางเลือกซึ่งหากมีการศึกษา สำรวจตามแผนที่กำหนดจะทำให้ทราบถึงปริมาณสำรองและความเป็นไปได้ในการพัฒนา สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาใช้ประโยชน์แหล่งพลังงานทางเลือกให้แก่ประเทศและลดการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
6. การดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน : กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาการอนุญาตอาชญาบัตร หรือประทานบัตรในเขตพื้นที่ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แจ้งว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ความสนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจแร่เพื่อดำเนินการสำรวจและพัฒนาแหล่งหินน้ำมันแม่สอดจังหวัดตาก และหากกระทรวงพลังงานมีนโยบายที่ชัดเจนในการสำรวจและพิจารณาแหล่งหินน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติกำหนดเป็นเขตพัฒนาแหล่งแร่สำหรับพลังงานทางเลือกต่อไป และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการแหล่งหินน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
อนึ่ง กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณีที่รับผิดชอบในการกำหนดและยกเลิกพื้นที่ประกาศ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยินดีให้ความร่วมมือในการศึกษาดังกล่าว
7. กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานโดยเพิ่มโอกาสให้ประเทศมีทางเลือกการใช้พลังงานจากแหล่งในประเทศให้มากขึ้น และเพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของแหล่งหินน้ำมันในบริเวณดังกล่าว กระทรวงพลังงานจึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ