Executive Summary
- ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 61 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
- อัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มิ.ย. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 66.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 67.9
- ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
- GDP ของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2 ปี 61 (เบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 61 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.0 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 4.1 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59
ผู้มีงานทำเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ 38.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.9 หมื่นคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังจากหักผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2.4 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 ผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 และภาคบริการที่มีจำนวนลดลงที่ 4.8 แสนคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.9 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน เพิ่มขึ้นจำนวน 1.2 หมื่นคน จากปี 2560 ที่มีจำนวนผู้ว่างงานจำนวน 4.1 หมื่นคน
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มิ.ย. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 66.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 67.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่มกราคม 58 โดยเป็นผลจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันลดลง ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้รายได้ในภาคเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจจะส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต
ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล และในไตรมาส 2 ของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายตัวของปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -0.8 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ 6 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่งเวลาเดียวกันของปีก่อน
Global Economic Indicators: This Week
มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 8.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าที่ชะลอลงหลายหมวด เช่น ยานพาหนะและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร อาหารสัตว์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น ทำให้ขาดดุลการค้า 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลสูงสุดในรอบ 4 เดือน ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้น 2.13 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 2.44 แสนตำแหน่ง จากการจ้างงานในหมวดค้าปลีกที่ลดลงมากที่สุดที่ 2.16 หมื่นตำแหน่ง ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 62.9 ของประชากรวัยแรงงาน สูงสุดในรอบ 3 เดือนทำให้อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 3 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า จากราคาในหมวดขนส่งและที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และ 2.8 ตามลำดับ
ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อานิสงส์จากผลผลิตโลหะประดิษฐ์ และอุปกรณ์ขนส่ง ที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ
อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหาร สุรา และยาสูบขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังฮ่องกงและญี่ปุ่นที่ขยายตัวชะลอลงขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.8 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าคงทนเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ชะลอตัว มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักขยายตัวเร่งขึ้น สวนทางกับหมวดอื่นๆขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าจากการหดตัวของการนำเข้าเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลัก ทำให้ขาดดุลการค้า 9.8 ล้านปอนด์
ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการผลิตสินค้าขั้นต้นและเหมืองแร่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.7 เท่ากัน
มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลในเดือน มิ.ย. 61 ซึ่งปกติจะจัดในเดือน พ.ค. ทำให้วันทำงานน้อยลง มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 15.4 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 128.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 125.1 จุด จากความเชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเงื่อนไขทางธุรกิจลดลงเล็กน้อย ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากยอดขายสินค้าประเภทอะไหล่และส่วนประกอบที่หดตัว
ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.5 จากผลผลิตเหมืองแร่ที่หดตัวที่ร้อยละ -0.4 ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดค้าส่งและค้าปลีกขยายตัว และเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 61 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 (เบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ด้านยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดรถยนต์และคอมพิวเตอร์ที่หดตัว
มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกสูงสุดขยายตัวชะลอลงขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยสินค้าประเภทอุปกรณ์การขนส่งหดตัว ขณะที่เครื่องจักรอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงทำให้ขาดดุลการค้า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนปรับลดลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 12 ก.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,640.93 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. 61 ที่ 46,794 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนี SET ในสัปดาห์นี้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย อาทิ CSI300 (จีน) Nikkei225 (ญี่ปุ่น) และ STI (สิงคโปร์) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นความไม่แน่นอนด้านการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,263.24 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0-4 bps โดยในสัปดาห์นี้การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน มีผู้สนใจเพียง 0.59 เท่าของวงเงินประมูล และการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 50 ปี มีผู้สนใจ 2.4 และ 1.0 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -5,600.11 ล้านบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 12 ก.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.25 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร วอน และหยวน ขณะที่เงินริงกิตและดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล โดยเฉพาะเงินเยน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.20
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th