รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 20 กรกฎาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 24, 2018 13:51 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.6 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 91.7
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ของจีนปี 61 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัว ร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าส่งออกของญี่ปุ่น เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 61 มีจำนวน 3.03 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.6 ต่อปี และขยายตัว ร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ส่วนหนึ่งขยายตัวจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม เนื่องจากหมดเทศกาลถือศีลอด (รอมฎอน) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน และมาเลเซีย เป็นหลัก นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน ได้แก่ ฮ่องกง ลาว อินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือน มิ.ย. 61 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 148,432.54 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.5 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 61 มีจำนวน 37,131 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ส่งผลให้ในไตรมาส 2 ของปี 61 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 23.6 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 61 มีจำนวน 50,723 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ หดตัวร้อยละ -1.5 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 29.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว ร้อยละ 0.5 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ในไตรมาส 2 ของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 28.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 61 มีมูลค่า 21,779.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -1.8 จากเดือนก่อนหน้าโดยขยายตัวได้ดีในกลุ่มตลาดสำคัญและตลาดศักยภาพสูง อาทิ อินเดียและ CLMV สำหรับการส่งออกตามรายกลุ่มสินค้า ขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกันโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ สำหรับกลุ่มเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวได้ดีเฉลี่ยร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกครึ่งแรกปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 61 มีมูลค่า 20,201.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -1.7 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อาทิ สินค้าหมวดเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วงครึ่งแรก ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ยังคงสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 61 เกินดุลที่มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 61 เกินดุลมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.2 ในเดือนพ.ค. เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน จากค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก 2018 ที่ส่งผลดีต่อการส่งออก อาทิ ในหมวดอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 102.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.6 ในเดือนพ.ค. จากปัจจัยการลงทุนของภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อราคาน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดค้าปลีกในหลายหมวดที่ชะลอลง เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป อาหารและเครื่องดื่ม และเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตสินค้าในหมวดเชื้อเพลิง สินค้าคงทน และเครื่องมือเครื่องจักร ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ด้านยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน มิ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -12.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากยอดสร้างคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว และโฮมทาวน์ ที่หดตัวจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตสร้างบ้านใหม่ เดือน มิ.ย. 61 ที่หดตัวร้อยละ -2.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่หดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Japan: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกเกือบทุกหมวดสินค้าที่ชะลอลง ขณะที่อุปกรณ์การขนส่งขยายตัวเร่งขึ้นด้านมูลค่านำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.5 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าในเกือบทุกหมวดสินค้าขยายตัวชะลอลง ขณะที่การนำเข้าสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์และเครื่องจักรหดตัวลง ส่งผลให้เกินดุลการค้า 721.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากราคาอาหารที่ขยายตัวเพียงเล็กน้อย

China: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อส่งผลกระทบต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมการผลิต ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยผลผลิตหมวดสาธารณูปโภค หมวดอุตสาหกรรมการผลิต และหมวดเหมืองแร่ชะลอตัวลง ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มและอุปกรณ์ไฟฟ้าขยายตัวได้ดี

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกที่หดตัวของสินค้าหลายหมวดโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้เกินดุลการค้า 1.7 หมื่นล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าในหลายหมวดที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อตรงตามเป้าหมายนโยบายเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรป

UK: mixed signal

อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลงเล็กน้อย

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนคนที่หางานเต็มเวลาและ Part Time เพิ่มขึ้น และเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 61 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากการส่งออกที่ชะลอลงของสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ชะลอตัว ทำให้เกินดุลการค้า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 61 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.25 ต่อปี

Malaysia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงต่ำสุดในรอบ 40 เดือน โดยราคาในหมวดสินค้าคงทนและเบ็ดเตล็ดหดตัว

Singapore: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่ปิโตรเลียมและสินค้าส่งออกจากภายในประเทศที่ขยายตัวชะลอลงในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.8 จากหมวดสินค้าเบ็ดเตล็ดและถ่านหินที่ขยายตัว ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

India: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 17.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 20.2 ในเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 21.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 14.9 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 61 ขาดดุล 16.6 พันล้านรูปี ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนปรับเพิ่มขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 19 ก.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,646.89 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 16-19 ก.ค. 61 ที่ 43,403 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ โดยการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนี SET ในสัปดาห์นี้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย อาทิ Nikkei225 (ญี่ปุ่น) KLCI (มาเลเซีย) และ STI (สิงคโปร์) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 61 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะทยอยออกมาในสัปดาห์หน้า และประเด็นความไม่แน่นอนด้านการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-19 ก.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -2,181.99 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0-9 bps โดยในสัปดาห์นี้การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน มีผู้สนใจเพียง 0.53 เท่าของวงเงินประมูล และการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปีมีผู้สนใจ 1.37 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 16-19 ก.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -2,556.03 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 19 ก.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.28 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล โดยเฉพาะเงินวอนและยูโร ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.06

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ