Executive Summary
- อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 61 เท่ากับ 108.8 ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย. 61 เกินดุล 4,083.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 60 คิดเป็น 1.71 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
- ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 61 มีจำนวน 146,694 คัน คิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มิ.ย. 61 พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี
- หนีสาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,531.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.7 ของ GDP
อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันขายปลีกที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก ขณะที่ราคาอาหารสดหลายชนิดปรับตัวลดลง อาทิ ราคาเนื้อสัตว์ ไข่ และผักผลไม้ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานพบว่ายังมีทิศทางทรงตัวที่ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานในช่วง 7 เดือนแรกของปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และ 0.7 ตามลำดับ
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 61 เท่ากับ 108.8 ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.4 ดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 16.3 ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 61 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.7
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย. 61 เกินดุล 4,083.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 958.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้า (ตามระบบ BOP) ที่เกินดุล 2,875.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับจากการส่งออกที่ขยายตัวดี และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล 1,208.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหลังหมดฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 61 เกินดุล 21,364.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 60 คิดเป็น 1.71 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.6 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59
ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 61 มีจำนวน 146,694 คัน คิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวในเขต กทม. ร้อยละ 5.2 ในขณะที่เขตภูมิภาคหดตัวร้อยละ -5.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน มิ.ย. 61 พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากกำจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ หมวดอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของ MPI ในเดือน มิ.ย. ได้แก่ หมวดยานยนต์ขยายตัวที่ร้อยละ 10.1 หมวดอาหารขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งมาจากการผลิตน้ำตาลทราย ปลาทูน่าเป็นสำคัญ และในหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 จากการผลิตอาร์ดิสไดร์ฟเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปีก่อน นอกจากนี้ อัตรากำลังการผลิตเดือน มิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 69 ของกำลังการผลิตรวม ขยายตัวในเกือบทุกสาขาการผลิต โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้อัตรากำลังการผลิตสูง อาทิ หมวดยานยนต์ หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์
ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี โดยชนิดเหล็กที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลม และลวดเหล็ก และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อเดือน ทำให้ 6 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวร้อยละ 3.7
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,531.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.7 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 33.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน คิดเป็นร้อยละ 97.6 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 96.1 ของยอดหนี้สาธารณะ
Global Economic Indicators: This Week
ยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ 6.89 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดขายในภาคใต้ที่ขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 17.9 จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีราคากลางบ้าน เดือน พ.ค. 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากดัชนีราคากลางบ้านในภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ขยายตัวสูงที่สุดที่ร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้า ด้านยอดขายบ้านมือสอง เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ 5.4 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัว ทั้งนี้ ราคากลางบ้านมือสองอยู่ที่ 276,900 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 จุดจากราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับสูงขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -0.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าและอยู่ในแดนลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 55.1 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือภาคบริการ เดือน ก.ค. 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด ถึงแม้ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ทั้งยอดคำสั่งซื้อใหม่และปริมาณผลผลิตต่างขยายตัวชะลอลงส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือรวม เดือน ก.ค. 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 54.3 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด
ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยผลผลิตหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 2 ปีกว่า โดยยอดค้าส่งหดตัวถึงร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนและอัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าในเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 101.0 ลดลง 4.5 จุดจากเดือนก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 2 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และเข้ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ร้อยละ 2-3 เป็นไตรมาสแรกในรอบปีกว่า โดยราคาสินค้าในหมวดสุราและบุหรี่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมาเป็นราคาในหมวดขนส่งที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 0.4 จากราคาเครื่องนุ่งห่ม อาหารและการขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น
ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นช่วงต้นสัปดาห์และปรับลดลงช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 2 ส.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,708.28 จุด สูงสุดในรอบเดือนกว่า ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-2 ส.ค. 61 ที่ 54,831 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ โดยการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนี SET ในสัปดาห์นี้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ อาทิ DJIA (สหรัฐฯ) Nikkei225 (ญี่ปุ่น) และ STI (สิงคโปร์) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นความไม่แน่นอนด้านการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังจากที่สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น ร้อยละ 25 จากเดิมที่ร้อยละ 10 สำหรับมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-2 ส.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติซือหลักทรัพย์สุทธิ 3,318.93 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันและระยะยาวปรับลดลง 0-14 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-2 ส.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,108.69 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 2 ส.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 33.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.17 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินวอน ขณะที่เงินเยน ยูโร ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.51
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th