รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 - 10 สิงหาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 14, 2018 14:49 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 69.1
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 61 คิดเป็น 1.78 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 61 มียอดคงค้าง 17.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 61 มียอดคงค้าง 19.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 61 (เบืองต้น) ของญี่ปุ่น ขยายตัว ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ของอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ของฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 67.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 69.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา โดยเป็นผลมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต นอกจากนี้ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายจังหวัดทั่วประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น

ผู้มีงานทำเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ 38.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.5 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังจากหักผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น 8.2 หมื่นคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 ผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้น 9.4 หมื่นคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 และภาคบริการที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นที่ 4.7 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ2.7 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน ลดลงจำนวน 9.3 หมื่นคน จากที่มีจำนวนผู้ว่างงานจำนวน 4.7 แสนคนหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -19.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 61 คิดเป็น 1.78 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 4.0 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

Economic Indicators: This Week

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 61 มียอดคงค้าง 17.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ทรงตัว และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.5

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 61 มียอดคงค้าง 19.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.3

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบที่หดตัวมากที่สุด มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าในหมวดยานพาหนะและชิ้นส่วนประกอบที่หดตัวมากที่สุด ทำให้ขาดดุลการค้า 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้น 1.57 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 2.48 แสนตำแหน่ง จากการจ้างงานในภาครัฐที่ลดลงมากที่สุดที่ 2.0 หมื่นตำแหน่ง ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 62.9 ของประชากรวัยแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าทำให้อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 55.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 59.1 จุด จากดัชนีย่อยในหมวดกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลงมาก

Japan: mixed signal

GDP ไตรมาส 2 ปี 61 (เบืองต้น) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนรวมขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.6 จากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และการบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 0.2 จากร้อยละ 0.1 ไตรมาสก่อนหน้า

China: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 โดยมูลค่าการส่งออกไปยังฮ่องกงและญี่ปุ่นขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 27.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากราคาสินค้านอกหมวดอาหารปรับตัวสูงขึ้น

Eurozone: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด จากการขยายตัวของงานใหม่ที่ชะลอลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยส่งผลให้ดัชนี PMI รวม เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 54.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่ขยายตัวชะลอลง

Taiwan: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลง มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 20.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.4 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากราคาสินค้าในเกือบทุกหมวดขยายตัวเร่งขึ้น

UK: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 53.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.1 จุด จากการขยายตัวของงานใหม่ที่ชะลอลง

Australia: mixed signal

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 61 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24

Indonesia: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ปี 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นเกือบทุกหมวด โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงส่งหลัก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 124.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 128.1 จุด โดยดัชนีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในปัจจุบันปรับลดลงมากที่สุด ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยทั้งหมวดอะไหล่และส่วนประกอบตลอดจนเชื้อเพลิงขยายตัวเร่งขึ้น

Malaysia: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.0 จากการผลิตเหมืองแร่ที่หดตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากยอดขายยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ขณะที่ยอดค้าส่งชะลอตัวเล็กน้อย ด้านอัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3

Philippines: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ปี 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล)จากการขยายตัวขะลอลงของการบริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 18.9 ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวชะลอลง มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยมูลค่าส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยมูลค่านำเข้าสินค้าหมวดธัญพืชและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 61 ที่ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 61 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.2 จุด จากที่อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด ในเดือนก่อนหน้า จากธุรกิจใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย. 61

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงช่วงต้นสัปดาห์และปรับเพิ่มขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 9 ส.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,722.48 จุด สูงสุดในรอบเดือนกว่า ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 6-9 ส.ค. 61 ที่ 50,983 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ โดยการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนี SET ในสัปดาห์นี้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ อาทิ KLCI (มาเลเซีย) และ STI (สิงคโปร์) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นความไม่แน่นอนด้านการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังจากที่สหรัฐฯ เตรียมตัวเรียกเก็ภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มสำหรับมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6-9 ส.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 7,097.70 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลง 1-2 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น 0-6 bps โดยในสัปดาห์นี้การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 182 วัน มีผู้สนใจถึง 3.84 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 6-9 ส.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -177.24 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 9 ส.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 33.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินเยน ริงกิต วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่เงินยูโรและหยวน อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ เล็กน้อย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.04

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ