นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2551 ตามมติคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) ครั้งที่ 6/2550 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้
1. อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 วันที่ 14 มีนาคม 2551 และวันที่ 30 มิถุนายน 2551 (รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2551) อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
2. อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่เคยรายงานตัวและจดทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง (มี ท.ร.38/1) อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปีสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
อนึ่ง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวตามข้อ 1 และ 2 ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ การจัดทำทะเบียนประวัติ การตรวจสุขภาพ และการออกใบอนุญาตทำงาน ตลอดจนการรักษาความมั่นคงของชาติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
(1) อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ออกประกาศให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 โดยยกเว้นการบังคับใช้มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ในข่ายได้รับการผ่อนผันจำแนกประเภทได้
ดังนี้
(1.1) แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 (ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2550 (ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 30 มิถุนายน 2551 รวมทั้งบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรระหว่างบิดามารดาได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร) และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา เฉพาะพื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา ลงวันที่ 9 มีนาคม 2550 (ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 14 มีนาคม 2551)
(1.2) แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่เคยรายงานตัวและจดทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง (มี ท.ร.38/1)
(2) ให้กรมการปกครองอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าว โดยการรับจดทะเบียนราษฎรคนต่างด้าว ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ กำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ออกเอกสารรับรองรายการทะเบียนประวัติ (ท.ร.38/1) ให้แก่แรงงานต่างด้าวตามข้อ (1.2) จัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัว รวมทั้งใบอนุญาตทำงานไว้ในบัตรใบเดียวกันให้แก่แรงงานต่างด้าวตามข้อ (1.1) และ (1.2)
(3) ให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตรวจสุขภาพ โดยออกประกาศเพื่อกำหนดรายละเอียดของการตรวจสุขภาพ การประกันสุขภาพ และโรคที่ไม่อนุญาตให้ทำงาน สถานพยาบาลที่จะตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวต้องตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแบบปีต่อปี โดยชำระค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท/ปี และค่าประกัน สุขภาพ 1,300 บาท/ปี
(4) ให้กระทรวงแรงงานอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ดำเนินการรับคำขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ การอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าวจะอนุญาต ครั้งละไม่เกิน 1 ปี และให้สามารถขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้อีกไม่เกินระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน คือ ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553
(5) ให้กองบัญชาการทหารสูงสุดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะอนุกรรมการสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงานดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจังในการสกัดกั้นการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรายใหม่ ทั้งในช่วงก่อนเปิดจดทะเบียน ระหว่างการจดทะเบียน และหลังสิ้นสุดระยะเวลาการจดทะเบียน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ
(6) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะอนุกรรมการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจริงจังในการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ตลอดจนผู้นำพา ผู้ให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ