รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 กันยายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2018 14:44 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนส.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 92.5
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 27.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนส.ค. 61 มีขยายตัวร้อยละ 28.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ยอดสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 9.2 จากเดือนก่อนหน้า
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 15.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 61 ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี
  • ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ส.ค. 61 มีจำนวน 3.23 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี (และขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล) จากการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดีเช่นกัน ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือน ส.ค. 61 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 168,046 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับลดลงจากระดับ 93.2 ในเดือน ก.ค. จากการลดลงของค่าดัชนียอดคำสั่งซื้อโดยรวมยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ จากปัจจัยด้านฤดูกาล และในช่วงเดือน ส.ค. มีฝนตกต่อเนื่องและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้กำลังซื้อ ในส่วนของภูมิภาคชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 105.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.5 ในเดือน ก.ค. สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของผู้ประกอบการ รวมถึงการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปีเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่งออกยังมีความกังวลต่อมาตรการภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐฯ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 61 มีจำนวน 34,164 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 27.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล พบว่าขยายตัว ร้อยละ 3.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็น เดือนที่ 20 นับตั้งแต่มกราคม ปี 60 ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัว ร้อยละ 19.5 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 61 มีจำนวน 52,650 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 28.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 23.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว ร้อยละ 0.9 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ 8 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.3 จากยอดสร้างทาวน์โฮมที่ขยายตัวสูง สวนทางกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 61 ที่หดตัวร้อยละ -5.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดฯ บ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -6.1 และ -8.0 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ด้านยอดขายบ้านมือสอง เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ 5.34 ล้านหลังต่อปีหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ผลจากยอดขายบ้านเดี่ยวที่ชะลอลง สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ 264,800 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.7 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากทั้งราคาบ้านเดี่ยวและราคาคอนโดมีเนียมที่หดตัวร้อยละ -1.7 และ -1.5 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ

Japan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกเคมีภัณฑ์ สินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล และอุปกรณ์การขนส่งที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 15.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 6 เดือน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดสินแร่และเชื้อเพลิงและอุปกรณ์การขนส่งที่ขยายตัวสูง ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน ส.ค. 61 ที่ 4.4 แสนล้านเยน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีราคาหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ปรับปรุง) เดือน ส.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น และเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 61 ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี

UK: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหมวดการจราจรขนส่งทางน้ำ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดค้าปลีกในหมวดสิ่งทอที่หดตัว

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาหมวดไฟฟ้าและขนส่งชะลอตัวลง

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากระดับราคาที่ปรับลดลงในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดโรงแรมและภัตตาคารที่ปรับลดลงมากที่สุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 61 (เบืองต้น) อยู่ที่ระดับ -2.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -1.9 จุด ลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ในแดนลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นระดับที่ต่ำสุดในปี 61 โดยระดับราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหาร และยานพาหนะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ระดับราคาหมวดอื่นๆ ปรับลดเพียงเล็กน้อย

Singapore: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกจากภายในประเทศขยายตัวดีที่ร้อยละ 14.5 ขณะที่ Re-export ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 12.5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินแร่และเชื้อเพลงที่ชะลอตัวลง ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

India: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 16.1 ในเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 25.4 ชะลอลงจากร้อยละ 28.0 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 61 ขาดดุล 17.4 พันล้านรูปี ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 5.1 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารและสินค้าขั้นต้นที่หดตัวลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์นีสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ CSI300 (จีน) STI (สิงคโปร์) และ KLCI (มาเลเซีย) โดยดัชนี SET ณ วันที่ 20 ก.ย. 61 ปิดที่ระดับ 1,752.11 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 17-20 ก.ย. 61 ที่สูงถึง 72,294 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ เป็นผู้ขายสุทธิ ผลจากที่จีนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ น้อยกว่าที่ตลาดคาด ตลอดจนสหรัฐฯ นกเว้นการเก็บภาษีให้กับสินค้าจีนบางรายการ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการประชุมขององค์การการค้าโลก (WTO) ในวันนี้สำหรับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-20 ก.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 3,500.40 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันปรับตัวเพิ่มขึ้น 0-4 bps ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวลดลง 0-4 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปีมีผู้สนใจ 2.81 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-20 ก.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 5,890.35 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 20 ก.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 32.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.84 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ เกือบทุกสกุลที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นเงินเยนและหยวนที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.77

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ