"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม ปี 2561 "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.5 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 37.6 และ 34.9 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 46.9 และ 19.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 3,116 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 106.3 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดชลบุรี และปราจีนบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.3 และ 8.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสิงห์บุรี ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 30.5 และ 10.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 18.1 และ 8.8 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,262 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 235.3 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสระบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.7 และ 9.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 98.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก แพร่ และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และ 8.8 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 12.5 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,377 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 40.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดอุทัยธานี พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในกรกฎาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.5 และ 7.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และเลย เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 9.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 1,463.6 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.1 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดนครราชสีมา จากการลงทุนโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 9.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 และ 2.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 32.0 และ 19.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร เป็นต้น สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 7,452 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรปราการ เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนสิงหาคมเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 6.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดเพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้นในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 530 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดภูเก็ต พังงา และสตูล เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น จากเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 1,524 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดนราธิวาส ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 10.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ฉบับที่ 60/2561
วันที่ 27 กันยายน 2561
ที่มา: กระทรวงการคลัง