Executive Summary
- มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 22.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ต่อปี
- รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ต่อปี
- ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ส.ค. 61 เกินดุลจำนวน 19.3 พันล้านบาท
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 61 หดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ส.ค. ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 23.3 ต่อปี
- ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือน ส.ค. 61 หดตัวร้อยละ -4.7 ต่อปี
- GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ของสหรัฐ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ของเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 61 มีมูลค่า 22,794.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ที่ร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.3 จากเดือนก่อนหน้าโดยกลุ่มตลาดที่ขยายตัวได้ในระดับสูง อาทิ กลุ่มอาเซียน5 กลุ่ม CLMV และอินเดีย สำหรับการส่งออกตามรายกลุ่มสินค้าขยายตัวได้ดีทั้งในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยสินค้าสำคัญขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สำหรับกลุ่มเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม และข้าว ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกช่วง 8 เดือนแรกปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าในเดือน ส.ค. 61 มีมูลค่า 23,382.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 8.5 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะ สินค้าหมวดวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป รองลงมาคือ สินค้าหมวดเชื้อเพลิง และสินค้าทุน ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 8 เดือนแรก ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 61 ขาดดุลเล็กน้อยที่มูลค่า -0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 61 ยังคงเกินดุลมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ส.ค. 61 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 179.0 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 167.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 134.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 32.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 7,614 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 4,285 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2,899 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 สามารถเบิกจ่ายได้ 2,535.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา การเบิกจ่ายร้อยละ 83.1 ของวงเงินงบประมาณ (3,050.0 พันล้านบาท)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ส.ค. 61 ได้จำนวน 248.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี และการจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ต่อปี ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 2,275.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของประมาณการเอกสารงปม.
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ส.ค. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 19.3 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 24.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุล 43.8 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 480.2 พันล้านบาท
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ส.ค. 61 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ ร้อยละ 14.0 และ 1.4 ตามลำดับ ขณะที่หมวดประมงหดตัวร้อยละ -25.7 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา ลองกอง มังคุด ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรด มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 61 หดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ส.ค. 61 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ หมวดประมง และหมวดปศุสัตว์ หดตัวที่ร้อยละ -1.6 -13.6 และ -5.5 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเนื่องจากตลาดมีความต้องการข้าวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ไข่ไก่เนื่องจากปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อย มันสำปะหลังเนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูกฤดูใหม่ ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการ และลำไยจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพาราจากปริมาณยางออกสู่ตลาดมากขึ้นและภาวะการค้าชะลอตัว ปาล์มน้ำมันเนื่องจากความต้องการน้อยกว่าผลผลิต อีกทั้งยังมีสต็อกน้ำมันปาล์มคงเหลือเป็นจำนวนมาก และไก่เนื้อเนื่องจากผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการใช้และบริโภค
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือน ส.ค. 61 พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือนติดต่อกันและหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์แร่อโลหะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์แอร์ คอมเพลสเซอร์ ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมใน 2 เดือนแรก ของไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ส.ค. อยู่ที่ร้อยละ 65.9 ของกำลังการผลิตรวม กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตสูง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ส.ค. 61 มีมูลค่า 69,239 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -2.4 โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายในประเทศหดตัวร้อยละ -7.4 จากฐานปีที่แล้วสูง เนื่องจากมีการเร่งรัดภาษีอากรคงค้าง (ท.ป.3) ของผู้ประกอบการรายใหญ่ และเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 15.9
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 23.3 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ 8 เดือนแรกของปี 61 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว ร้อยละ 16.1 ต่อปี
ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ส.ค. 61 หดตัวร้อยละ -4.7 ต่อปี โดยชนิดเหล็กที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อเดือน ทำให้ 8 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวร้อยละ 1.9
Global Economic Indicators: This Week
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล)ด้านยอดใบอนุญาตสร้างบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 61 หดตัวร้อยละ -4.1 จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากยอดใบอนุญาตสร้างบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -5.3 และร้อยละ -3.7 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 25-26 ก.ย. 61 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ 8-0 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00-2.25 ต่อปี พร้อมคาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อีก 1 ครั้งและในปี 62 อีก 3 ครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ระดับ -2.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -1.9 จุด และอยู่ในแดนลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศหดตัวร้อยละ -0.4 ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มขยายตัวร้อยละ 0.7 จากที่หดตัวร้อยละ -4.1 ในเดือนก่อนหน้า
GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกโทรศัพท์และส่วนประกอบที่หดตัวขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวชะลอลง ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 61 เกินดุล 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.8
มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.0 โดยการส่งออกเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขยายตัวในระดับสูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 16.4 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.0 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า -5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 1 ปีโดยราคาหมวดอาหาร เสื้อผ้า สินค้าคงทนและบริการ และหมวดเบ็ดเตล็ด ขยายตัวร้อยละ 1.7 2.8 0.7 และ 1.1 ตามลำดับ เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในเดือนดังกล่าวยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี 60 ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 1 ปี โดยชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากการชะลอของผลผลิตหมวดเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์จากไม้
ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากร้อยละ 4.69 โดยผลผลิตหมวดเหมืองแร่หดตัวลงถึงร้อยละ -5.7 ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 61 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -0.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าหมวดค้าส่งและค้าปลีกต่างหดตัวลง อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 61 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.375 ต่อปี
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 61 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี นับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. 61 เพื่อบรรเทาการอ่อนค่าของเงินรูเปียะห์
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 61 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ประกาศชึนอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 4.50 ต่อปีเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนที่สูงที่สุดตั้งแต่ เดือน มี.ค. 52 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 61 ลดลงมาอยู่ที่ 57.5 จุด จากหมวดผลผลิต ยอดขายสินค้า และสินค้าคงคลังที่ขยายตัวชะลอลง
ดัชนี SET ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ CSI300 (จีน) ดัชนีฮั่งเส็ง (ฮ่องกง) และ KLCI (มาเลเซีย) โดยดัชนี SET ณ วันที่ 27 ก.ย. 61 ปิดที่ระดับ 1,749.84 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 24-27 ก.ย. 61 ที่เบาบางเพียง 49,649 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนทั่วไปในประเทศและ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.00-2.25 ต่อปี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 61 ส่งผลต่อตลาดเอเชียในวงจำกัด แต่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง จากท่าทีของ Fed ที่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 4 ครั้งในปี 61-62 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24-27 ก.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,380.66 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันปรับตัวเพิ่มขึ้น 0-2 bps ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวลดลง 2-8 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปีมีผู้สนใจถึง 3.44 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 24-27 ก.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 890.33 ล้านบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 27 ก.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 32.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.20 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิเงินเยน ยูโร และหยวน ขณะที่เงินวอนและดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนคาสลงมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.05
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th