นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังแถลงว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลกเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2561 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวันที่ 10 - 14 ตุลาคม 2561 ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สรุปผลการประชุม ดังนี้
1. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2561 เป็นการประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลกและผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศจากประเทศสมาชิก 189 ประเทศทั่วโลก โดยนาย Joko Widodo ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามการค้าและความขัดแย้งของสองประเทศมหาอำนาจ และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการสนับสนุนการค้าอย่างเสรี รวมทั้ง แก้ไขปัญหาที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อาทิ การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ขณะเดียวกันนาง Christine Lagarde กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้กลุ่มประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่มีความซับซ้อน และผันผวนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและรายได้น้อย นอกจากนี้ นาย Jim Yong Kim ประธานธนาคารโลกได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญและเร่งลงทุนในการเพิ่มศักยภาพของทุนมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
2. การประชุมร่วมของผู้ว่าการประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF-WB Governors Joint Meeting of the South East Asia Voting Group) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลก และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ว่าการของไทยในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินงานของสำนักงานกรรมการบริหารประจำกลุ่มออกเสียงฯ นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้นำเสนอผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าต่อประเทศสมาชิก กล่าวคือ หากมีการขยายตัวของการกีดกันทางการค้า จะส่งผลกระทบให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เนื่องจากมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะการลงทุน รวมทั้งจะสร้างความผันผวนในตลาดเงินยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากการกีดกันทางการค้าดังกล่าว หากสามารถปรับตัวและมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม
3. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 98 (the 98th Development Committee Meeting) เป็นการประชุมระดับผู้ว่าการธนาคารโลก ประกอบด้วย ผู้แทนของผู้ว่าการธนาคารโลกจากกลุ่มออกเสียงของประเทศสมาชิก จำนวน 25 คน โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อธรรมชาติในการทำงาน โครงการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Project) เทคโนโลยีทางการเงิน และความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และได้สนับสนุนให้กลุ่มประเทศสมาชิกเร่งลงทุนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตลาดแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาและรายได้น้อยรักษาระดับหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน
4. การประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมหารือโต๊ะกลมกับนาง Christine Lagarde กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนอื่น ๆ นอกจากนี้ ได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสาธารณรัฐโครเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างประเทศ ในช่วงการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 10 – 14 ตุลาคม 2561 อีกด้วย
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3681
ที่มา: กระทรวงการคลัง