รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2018 15:33 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี ”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน ปี 2561 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี " โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และอ่างทอง เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 8,976 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 75.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด ระยอง และสระแก้วเป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 8,244 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 64.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี สำหรับด้านอุปทาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดตาก นครสวรรค์ และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดตาก และเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.6 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 679 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หดตัว อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.8 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 818 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 6.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 6.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดขอนแก่น สกลนคร และสุรินทร์ ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.03 และ -6.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกันยายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -4.9 และ -2.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ฉบับที่ 67/2561

วันที่ 29 ตุลาคม 2561

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ